วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อาจารย์ประหยัด เจริญบุญ


ทุกร่างมีองค์คุ้มครอง เอาพิธีเปิดพระโอษฐ์พิสูจน์...เจ๋งๆ
เชื่อหรือไม่???...มนุษย์เราเกิดมาจะ มีองค์บารมีคุ้มครองสังขารกันทุกคน จะเป็น องค์เทพ องค์พรหม หรือ สัมภเวสี...ก็แล้วแต่สัญญาที่ทำกันไว้ตั้งแต่อดีตชาติ ...ไม่สามารถที่จะเลือกองค์บารมีประจำสังขารได้ คนใดที่พูดหรือบอกว่า องค์นั้นองค์นี้เสด็จมาประทับในร่างของตนเอง แล้วสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้นั้น ไม่จริง...(หลอก)

เพราะ องค์เทพจะไม่มีบารมีในการช่วยเหลือมนุษย์คนใดได้เลย เนื่องจากว่าองค์เทพแต่ละองค์นั้นมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน อาจจะมีบ้างเป็นบางองค์ที่ลงมาเพื่อสร้างบารมีช่วยเหลือมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะลงมา เพื่อคุ้มครองร่างเท่านั้น...จึงจะไม่ยินยอมช่วยเหลือใครๆ ทั้งสิ้น

ก็มีการที่ทำพิธีอัญเชิญเทพประจำร่างของแต่ละบุคคล ซึ่งในทางพราหมณ์เรียกว่า “เปิดพระโอษฐ์” คือเมื่อเทพเข้ามาทรงในร่างแล้วก็จะ พูดออกมาเป็นภาษาเทพ ก็จะสื่อกันรู้เรื่องในวงเทพด้วยกัน

ถ้าจะว่าไปแล้ว องค์บารมี ก็ เปรียบเสมือนกับพระไตรปิฎกหรือหนังสือตำรา อะไรเทือกนั้น แต่ว่าคนที่เป็นเจ้าของมีไว้ไม่ยอมมาเปิดอ่านเลย ก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจในหนังสือนั้น ด้วยฉะนี้ จึงต้องเปิดหนังสือนั้นดูเนื้อหาข้างใน... ...เช่นเดียวกันกับที่ เปิดพระโอษฐ์ เพื่อที่จะให้เทพประจำร่างนั้น แสดงตนออกมาว่า...เป็นผู้ใด๋
อดีตพนักงานธนาคารหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันลาออกมาประกอบธุรกิจเอง เป็น อาจารย์ในการเปิดพระโอษฐ์ ที่มีลูกศิษย์มาร่วมในสำนักมากมายหลายอาชีพ จนเป็นที่เลื่องลือในกิจ

“เหนือฟ้า ใต้บาดาล” ได้ข่าวก็เลยตามไปสัมผัส ที่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 2 ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตรงถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (เก่า) เยื้องๆ กับตลาดสารภี

วันนั้นมีลูกศิษย์ของอาจารย์ ประหยัด เจริญบุญ กำลังประกอบกิจเปิดพระโอษฐ์กันอยู่ 4-5 คน พอทีมงานเข้าไป พวกเขาก็เชิญให้เข้าไปสัมผัสกับพิธีกรรมเลย

คนแรกที่เข้าไปสัมผัส คุณกุณฑล เทพจิตรา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานส่งเสริมเกษตรภาคเหนือ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเดินทางไปถึงสำนักฯ เขาบอกกับคณะว่า ไม่เชื่อในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดอะไรขึ้นกับเขา จึงอาสาเข้าพิธีก่อนใครๆ

คุณกุณฑล เข้าไปนั่งขัดสมาธิตรงหน้าอาจารย์ประหยัดแล้ว หลับตาว่าคาถาตามอาจารย์ประหยัดไปซัก 4-5 นาที เขาก็มีอาการที่ไม่พูดตามอาจารย์และ ก็พูดออกมาเป็นภาษาคล้ายๆ กับภาษาอินเดีย พูดไปหัวเราะไป
แล้วศิษย์อาจารย์ ประหยัดท่านหนึ่งก็เข้ามานั่งแทนอาจารย์ พร้อมกับส่งเสียงโต้ตอบกันเป็นภาษาที่ฟังคล้ายกัน

ก็ได้รับคำบอกเล่าจากอาจารย์ประหยัดว่า เขาพูดภาษาเทพกันแล้วก็รู้เรื่องกันแล้วว่าเป็น เทพองค์ใดที่มาคุ้มครองร่างสังขารของคุณกุณฑล

คุณธงชัย พุ่มพวง ซึ่งเป็นหัวหน้าของ คุณกุณฑล ในสำนักงาน เข้าลองบ้าง ทำในรูปแบบเดียวกัน แต่ว่าไม่มีอาการใดๆ ซึ่ง อาจารย์ประหยัด บอกว่าร่างกายของ คุณธงชัย ไม่พร้อม สุขภาพไม่สมบูรณ์

คุณธงชัยก็บอกว่าจริง เนื่องจากช่วงนั้นเป็นไข้หวัด...เออ ไม่ทราบว่าอาจารย์ประหยัดรู้ได้ อย่างไรว่าไม่สบาย

อีกคนที่เข้าไปทดสอบชื่อ “ฮั้ว” (เขาขอสงวนนามจริง) ทำงานธนาคารแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย เข้าไปสัมผัสแล้วก็นั่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าหน้าและตัวเริ่ม แดงขึ้นๆ เหงื่อตกออกมาเป็นเม็ดๆ โดยเฉพาะที่ตรงใบหูนั้น เหงื่อจะหยดออกมามากกว่าที่อื่น

ทนไม่ได้ คุณปัญญา เจริญวงศ์ หัวหน้าทีมที่เข้าพิสูจน์ กระโดดเข้าไปลองเองกับอาจารย์ประหยัด พอเขาท่องคาถาตามอาจารย์ซัก 5-6 นาที ก็เกิดอาการที่นิ่งไม่ยอมพูดจาหรือท่องคาถาต่อ

จากนั้นก็ค่อยๆ มีการกระตุกที่แขนแล้วก็ต่อไปที่ขามาที่ลำตัว และรุนแรงขึ้นแบบชักโดยโยกไปทั้งตัว และก็สั่นอยู่อย่างนั้นนานกว่า 20 นาที
อาจารย์ ประหยัด จึงบอกว่า “...หยุดเถอะ! พอแล้ว ร่างเขาเหนื่อยแล้ว อย่าดื้อดึงเลย” จากนั้นอาการสั่นของคุณปัญญาก็ค่อยๆ สั่นช้าลง ซักพักก็หยุด แล้ว คุณปัญญาก็ลืมตา...คืนเข้าสู่สภาพปกติ!!

จากความรู้สึก คุณปัญญาบอกว่าในช่วงนั้นเหมือนกับว่าเข้าอยู่ในภวังค์ รู้ตัวว่ามีอาการสั่น ก็พยายามที่จะควบคุมอาการตนเอง จะไม่ทำตาม แต่ว่ายิ่งเกร็ง กล้ามเนื้อมันก็ยิ่งสั่น และในช่วงที่ มีอาการสั่นนั้น มีสติรู้หมดว่า ผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเขาพูดอะไรกัน ประสาทต่างๆ ก็ยังเป็นปกติ

จะว่าสะกดจิตหรือก็ไม่ใช่ เนื่องจากว่าไม่ได้สบตากับอาจารย์ เพราะในช่วงที่ทำพิธีนั้นหลับตาตลอด

อาจารย์ประหยัด บอกว่า ที่ตัว คุณปัญญานั้นมี “ผีปู่ผีย่า” (ภาษาเมืองเหนือ) อยู่ในตัว ซึ่งองค์พระธรรมฝ่ายปราบมารทั้งหลายนั้นไม่ สามารถปราบได้ แต่จะให้ท่านไปนั้นก็ยากมาก

ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าตาจนเลยทีเดียว มีวิธีการแก้ไขด้วยองค์กุศล เมื่อท่าน (ผีปู่ผีย่า) ได้กุศลเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็จะไปจุติใหม่ในภพอื่นต่อไป (ส่วนที่จะไปจุติเป็นมนุษย์ เทวดา หรือว่าไปรับกรรมต่อไปนั้น แล้วแต่ บุญกรรมที่ทำไว้ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ บวกกับบุญบารมีในอดีตชาติของท่านเอง)

และเมื่อผีปู่ผีย่าไปแล้ว องค์ธรรมก็จะเข้ามาคุ้มครองสังขารของคุณปัญญาเอง ส่วนจะเป็นเทพ หรือพรหม นั่นก็แล้วแต่...บุญกรรมในอดีตชาติที่คุณปัญญาทำเอาไว้...

...เรื่องราวที่เกิดขึ้น และทีมงาน “เหนือฟ้า ใต้บาดาล” เข้าไปสัมผัสออกมาเป็นรูปธรรมที่เห็นๆ นี้...ท่านเชื่อหรือไม่??

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2545 คอลัม "เหนือฟ้า ใต้บาดาล" โดย ก้อง กังฟู

การทำนาย เหตุการณ์ใหญ่ในปี 2555

ชาวมายา นอสตราดามุส และเออร์วิน ลาสซโล ต่างทำนายว่า จะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ในปี 2555 เนื่องจากอาณาจักรมายามีความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์สูงมาก
ก่อนที่จะล่มสลายไปเมื่อราว 1,000 ปีที่ผ่านมา บางคนจึงตีความคำทำนายของชาวมายา ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดจากลูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลก ยังผลให้สรรพสิ่งทั้งหลายถูกทำลายลง อีกราว 500 ปีต่อมา นอสตราดามุส โหรชื่อดังชาวฝรั่งเศส พิมพ์คำทำนายในแนวเดียวกันออกมา โดยไม่ได้บ่งว่าอะไรจะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ต่อมาอีกราว 500 ปี เออร์วิน ลาสซโล ปราชญ์ชาวฮังการี พิมพ์คำทำนายออกมาในหนังสือชื่อ The Chaos Point : The World at the Crossroads (มีบทคัดย่อเป็นภาษาไทยอยู่ในหนังสือชื่อ "กะลาภิวัตน์") ต่างกับชาวมายาและนอสตราดามุส ลาสซโลบอกว่า มนุษยชาติสามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นได้ด้วยการกระทำที่เหมาะสม และ ปี 2555 จะเป็นช่วงเวลาที่โลกเดินเข้าสู่จุดพลิกผันสำคัญยิ่ง นั่นคือ โลกอาจเดินเข้าสู่ทางที่นำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน หรืออาจเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายหายนะก็ได้

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีเหตุการณ์สามอย่าง ซึ่งมองเผินๆ แล้วไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกัน หรือมีผลต่อการทำนายดังกล่าวเกิดขึ้นที่นครนิวยอร์ก โคเปนเฮเกนและลอนดอน ที่นิวยอร์ก องค์การสหประชาชาติแถลงว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านคนในปี 2555 และจะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ที่โคเปนเฮเกน นักวิทยาศาสตร์ราว 2,000 คนแถลงผลการศึกษา ว่า ภาวะโลกร้อนได้ ทำให้ระดับน้ำทะเลขยับตัวสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการคาดหมายเมื่อสองปีก่อน ถึงราวสองเท่า ที่ลอนดอน ตัวแทนของประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจที่เรียกว่า จี-20 ปรึกษาหาข้อตกลงสำหรับแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่ กำลังลุกลามอยู่ในปัจจุบัน การปรึกษากันนั้นนำไปสู่การตกลงแบบกว้างๆ ซึ่งวางอยู่บนฐานของการคิดในกรอบเดิม นั่นคือ รัฐบาลจะใช้มาตรการสารพัดชนิดกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูงสุดอีกครั้ง

หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้ง เหตุการณ์ทั้งสามมีความสัมพันธ์กันสูง และมีผลโดยตรงต่อคำทำนายดังกล่าว การเพิ่มขึ้นของประชากรนำไปสู่การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเนื่องจาก ทุกคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเป็นไปได้ว่า เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านคนในปี 2555 ทรัพยากรโลกจะถูกใช้จนยังผลให้เกิดการขาดสมดุลร้ายแรงที่ผลักดันให้โลกเดิน เข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายหายนะ ภาวะโลกร้อนเป็น สัญญาณเตือนภัยในระยะยาวให้มนุษยชาติหยุดใช้ทรัพยากรกันอย่างบ้าคลั่ง มิฉะนั้นวันแห่งความหายนะจะมาถึง ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2555 ส่วน สัญญาณเตือนภัยในระยะสั้น ได้แก่ การถดถอยร้ายแรงของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แม้จะมีการมองว่า ปัญหาเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานของวิกฤติ มันเป็นเพียงชนวนจุดวิกฤติเท่านั้น ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรแบบบ้าคลั่งเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่ยั้งคิดของมวลมนุษย์นำ โดยชาวอเมริกันซึ่งบริโภคมากถึงราว 6 เท่าของชาวโลก

เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่า นักการเมืองที่ไปพบกัน ณ กรุงลอนดอนไม่ใส่ใจต่อปัจจัยพื้นฐานนั้นเลย ตรงข้าม พวกเขาต้องการกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับเป็นการพยายามแก้ความเมาด้วยการดื่มเหล้าเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้โลกเดินเข้าสู่ทางของความล่มสลายหายนะตามคำทำนายของลาสซโล ฉะนั้นประชาชนคนไทยจึงไม่ควรฟังนักการเมืองสิ้นคิดเหล่านั้นและใช้วิจารณญาณ หาทางออกที่เหมาะสมกว่า ประวัติศาสตร์บ่งว่า คนไทยสามารถทำอะไรก็ได้เมื่อต้องการจะทำ คนไทยได้รับการยกย่องว่าสามารถลดการเกิดของประชากรได้อย่างรวดเร็วโดยความ สมัครใจ เมืองไทยจึงไม่มีการใช้มาตรการรุนแรงจำพวกบังคับให้มีลูกเพียงคนเดียวแบบ เมืองจีน หรือบังคับให้ทำหมันซึ่งครั้งหนึ่งรัฐบาลอินเดียนำมาใช้ คนไทยไม่ต้องเปลี่ยนฐานความคิดและทำอะไรซึ่งไม่เคยทำมาก่อน ประชากรไทยก็จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกไม่กี่ปีแล้วทรงตัวก่อนที่จะลดลง

เนื่องจากเราคงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก หากลูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลก เราควรเน้นสิ่งที่เราทำได้ในด้านการใช้ทรัพยากร เกี่ยวกับเรื่องนี้ คนไทยไม่ควรทำตามคำชักจูงของรัฐบาลหลงผิด ซึ่งมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายแบบบ้าคลั่งตามแนวอเมริกันแทนการแก้ ปัญหาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฐานของการใช้จ่ายควรอยู่ที่รายได้และความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ฉะนั้น เมื่อได้เงินมาไม่ว่าจะโดยวิธีใดรวมทั้งเงิน 2,000 บาทที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้ด้วยก็ไม่ควรนำไปใช้ถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้ามีความจำเป็น อาทิเช่น ซื้อนมและมุ้งให้ลูก ควรรีบนำไปใช้ทันที หากมีเงินเหลือจึงค่อยพิจารณาซื้อหาสิ่งอื่นมาเสริมความสะดวกสบายในการดำรง ชีวิต การเปลี่ยนฐานความคิดของการใช้จ่ายให้เป็นแบบนี้ จะมีผลต่อการปรับฐานเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความยั่งยืน

เนื่องจากการเปลี่ยนฐานของการใช้จ่ายจะทำให้คนไทยเป็นชาวโลกส่วนน้อยที่ทำเช่นนั้น ภาวะโลกร้อนและ ผลกระทบร้ายแรงของมันจึงจะยังเกิดขึ้น ฉะนั้น คนไทยต้องเตรียมรับมือไว้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอมาตรการของรัฐบาล เริ่มด้วยการพิจารณาเรื่องทำเลของสถานที่ตั้งบ้านและลักษณะของบ้านแล้วหาทาง หนีทีไล่เรื่องน้ำท่วมไว้เสียตั้งแต่วันนี้ หากย้ายบ้านออกจากพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงได้ก็ควรทำ หรือไม่ก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนบ้านให้เป็นแบบที่หนีน้ำท่วมได้เฉกเช่นบ้าน ทรงไทยที่มีใต้ถุนสูง และหากเป็นไปได้ควรหัดพายเรือ และหาซื้อเรือพายไว้ในบ้านด้วย

หากคนไทยส่วนใหญ่ลงมือทำตามที่เขียนมาเสียตั้งแต่วันนี้ เมืองไทยจะไม่ประสบความหายนะเช่นชาวโลกส่วนใหญ่ที่ยังหลงเดินตามทางดังที่ เคยเดินมา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้วว่าได้พาไปสู่ทั้งภาวะโลกร้อนและวิกฤติเศรษฐกิจ

ต้นเหตุของความฝัน


ต้นเหตุของความฝัน (เพราะเหตุใดคนเราถึงฝัน) 4 ประการ
(เพราะเหตุใดคนเราถึงฝัน) 4 ประการ

1. บุรพนิมิต
ความฝันเกิดจากเรื่องราวในอดีตมาปรากฏให้คนนั้นฝันไป มักเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงมาปรากฏบอกลางหรือโชคลาภ

2. จิตนิวรณ์
ความฝันเกิดเพราะมีอารมณ์จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความฝันอย่างนี้เป็นเพราะอารมณ์จิตใจของผู้ฝันได้ผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อยู่อย่างมากตลอดเวลา เมื่อหลับไปก็เกิดความฝันในสิ่งนั้น ในเรื่องนั้น ที่ผู้ฝันฝักใฝ่อยู่ หรือได้พบเห็นแล้วจดจำโดยไม่มีวันลืม

3. เทพสังหรณ์
ความฝันเกิด ขึ้นเพราะเทวดาบันดาล ความฝันเช่นนี้เป็นเพราะเทวดาผู้ปกปักรักษาคุ้มครองธรรมะได้ดลบันดาลให้ผู้ ฝันเกิดความฝันไป เพื่อสำแดงแจ้งเหตุการณ์ล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องมงคล แต่ถ้าเป็นฝันร้ายเรื่องร้ายก็เป็นเหมือนการตักเตือน ผู้ฝันให้ระวังภัยและป้องกัน

4. ธาตุโขภะ
ความฝันเกิดเพราะกินมาก นอนมาก จนท้องไส้อืด ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ธาตุไม่ย่อย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวลานอนหลับไม่สนิทจึงฝันไปไร้สาระไม่มีมูลความจริง หรือให้ประโยชน์แต่อย่างใด

นครหริภุญไชยในปฐมรัชกาล


พระนางจามเทวี ทรงสถาปนาความรุ่งเรืองแก่นครหริภุญไชยของพระนางมากขึ้นไปอีก จนเป็นนครในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายใฝ่ฝันอย่างแท้จริง โดยตำนานนั้นกล่าวว่าอาณาประชาราษฎร์เป็นสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติโดยถ้วน หน้า เฉพาะบ้านใหญ่นั้นมีจำนวนถึง ๔๐๐๐ บ้าน บ้านน้อยอีกเป็นอันมาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ และพสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒๐๐๐ แห่ง สำหรับถวายพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกมาจากละโว้ ๕๐๐ รูป แยกย้ายผลัดเปลี่ยนกันสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนา วัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นต่อมาก็มีภิกษุจำพรรษาเต็มพระอารามทุกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น พระนางยังโปรดฯ ให้เฟ้นหาบัณฑิตที่ชำนาญการสวดพระธรรมอีก ๕๐๐ คนสำหรับช่วยสวดพระธรรมในวัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นด้วย

บรรดาผู้คนซึ่งตามเสด็จพระนางจามเทวีมา แต่กรุงละโว้นั้น พระนางก็โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กันทางทิศตะวันออกของพระนคร ชาวมิคสังครเดิมอยู่ทิศตะวันตก พวกที่รอดตายมาจากรมยนครอยู่ทิศใต้ และตระกูลที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์นั้นก็อยู่ภายในเมือง

ต่อมาพระนางมีพระดำริว่า เวลานี้พระโอรสทั้ง ๒ ก็ยังเยาว์พระชันษาอยู่ ถ้ามีข้าศึกมาเบียดเบียนจะเป็นการลำบาก จึงโปรดฯ ให้มีพระราชพิธีพลีกรรมสังเวยเทพยดาผู้รักษาพระนคร ขอประทานช้างมงคลตัวประเสริฐสำหรับใช้ในการสงคราม เทวะทั้งหลายจึงดลใจช้างเชือกหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคชลักษณ์อันบริบูรณ์ทุกประการ คือมีกายขาวประดุจเงินเลียง และงาสีเขียว พลัดออกจากโขลงที่ใกล้ตีนดอยอ่างสรงแล้วมุ่งลงใต้มายังนครหริภุญไชย เวลานั้นก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีฝนตกตลอด ๗ วัน ๗ คืน เมื่อมาถึงพระนคร พระนางจามเทวีทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงมีพระราชโองการให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจัดเครื่องบูชาข้าวตอกดอกไม้และ ดุริยดนตรีแห่ไปรับมายังโรงช้างทางทิศตะวันออก ประดับด้วยแก้วแหวนเงินทองอันงดงามเลอค่า จากนั้นทรงสถาปนาเป็นพระคชาธารคู่พระบารมี และโปรดฯ ให้มีมหรสพสมโภชในเมืองถึง ๓ วัน ๓ คืน

ช้างนี้ คนรุ่นหลังต่างพากันเรียกว่า ช้างภู่ก่ำงาเขียว กล่าวกันว่ามีอานุภาพยิ่ง คือเวลาใกล้เที่ยงหากใครไปยืนเบื้องหน้าช้างก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าไม่บวงสรวงด้วยข้าวตอกดอกไม้เสียแล้วก็อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า พระนางจามเทวีไม่เพียงแต่ทรงเอาพระทัยใส่ในการศาสนา จนเมืองหริภุญไชยเป็นประดุจพุทธนครเท่านั้น ในด้านยุทธศาสตร์การป้องกันพระนครพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างด่านไว้ที่ชายแดนที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว ปัจจุบันก็คือบริเวณหมู่บ้านกอกและทุ่งสามเสี้ยว เขต อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ก็โปรดฯ ให้จัดการซ้อมรบเพื่อทดสอบความพลั่งพร้อมของกำลังพล โดยทรงออกอุบายให้ด่านที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยวแกล้งตั้งตัวเป็นกบฏและ ทรงมีรับสั่งให้จัดทัพไปปราบปรากฏว่าฝ่ายพระนครชนะศึก แต่แม้ว่าจะเป็นการซ้อมรบแต่ต่างฝ่ายก็ไม่รู้กันเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสีย ชีวิตมากมาย พระนางจึงทรงอุปถัมภ์เลี้ยงดูครอบครัวของทหารที่ตายในการสู้รบครั้งนี้ให้ เป็นสุขต่อไป ผู้ที่รอดชีวิตก็พระราชทานบำเหน็จความดีความชอบตามควรแก่ฐานะ

พระนางจามเทวี ได้ทรงปกครองเมืองหริภุญไชยต่อมาด้วยทศพิธราชธรรมแท้จริง พระนางทรงสั่งสอนบรรดาเสนาข้าราชสำนัก ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมเสมอ นครหริภุญไชยจึงเป็นที่สงบสุขน่าปิติยินดีราวกับเมืองสวรรค์ในโลกมนุษย์

สงครามขุนวิลังคะ

ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ ผู้ทรงปกครองนครหริภุญไชยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็ทรงมีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี แต่ผู้ที่แสดงความปรารถนานั้นก่อนคนอื่นก็คือ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. ๑๒๒๖ เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่า

“ข้าแต่มหาราชเทวี เป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสี”

พระนางจามเทวีทรงพิโรธมาก เพราะการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นพระเดชานุภาพ และเป็นการแสดงอำนาจคุกคามพระนางอย่างแท้จริง แต่ยังทรงตรัสถามอย่างพระทัยเย็นว่า “ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า”

ทูตลัวะทูลตอบว่า “ขุนแห่งข้าพเจ้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตัวข้าพเจ้านี้แหละ”

พระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า “ผิว่า ขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้”

แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ทูตลัวะผู้นำรีบนำผู้คนกลับไปเมืองระมิงค์ ด้วยความวิตกว่าตนรับเชิญสาส์นเจ้าเหนือหัวมาครั้งนี้หวังว่าจะได้รับความดี ความชอบ แต่ต้องกลับกลายเป็นผู้นำข่าวร้ายไปสู่เจ้านครลัวะแทนเสียแล้ว ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรงสั่งเตรียมยกทัพบุก เข้าทำลายนครหริภุญไชยให้พินาศทันที เพราะถึงเมืองของพระนางจามเทวีจะเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงด้วยปราการหอรบ ต่างๆ พร้อมสรรพเพียงใดก็ยังเป็นเมืองเล็กอยู่ แต่เมื่อความโกรธผ่อนคลายลงบ้างและเพราะเห็นว่าเป็นเมืองพระพุทธศาสนา จะเข้าตีเสียเลยก็ไม่เหมาะสม จึงส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติ กาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญไชยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง ๗ ปีทีเดียว

ในที่สุดขุนวิลังคะก็ตาสว่างว่าตนเสีย รู้ จึงนำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง ๘๐๐๐๐ คน พระนางจามเทวีก็ทรงมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ ๗ พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างภู่ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดยพระมหันตยศประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้าง กองทัพของหริภุญไชยมีจำนวนเพียง ๓๐๐๐ คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธ และสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพรากับออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่า นั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมา

หลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของ หริภุญไชยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พ.ศ. ๑๒๓๐

ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่อง เกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะ พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจังทรงมีพระสุณิสาลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ

เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทาง ทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมา

พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่น พระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น

สร้างพุทธปราการและกำเนิดเขลางค์นคร

ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า ในลำดับต่อมาพระนางจามเทวีทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนม์มายุ ๗ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญไชยแทนพระนาง และมีการมหรสพสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ต่อมาก็อภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางทรงเสวยราชย์ในกรุงหริภุญไชยได้ ๗ ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญไชยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรดำรงอยู่ด้วยความสุข ในเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย มีแต่ความสงบร่มเย็นในพระศาสนา

เมื่อถึงเวลานี้ พระนางจามเทวีก็เสด็จประทับอยู่ในพระราชสำนักแห่งพระนางด้วยความ สุขอย่างบริบูรณ์แล้ว เช้าวันหนึ่งพระนางตื่นบรรทมขึ้นมา เป็นเวลาที่อากาศแจ่มใสน่าสบายอย่างยิ่ง พระนางยังทรงประทับอยู่ ณ ที่ไสยาสน์ ระลึกถึงห้วงเวลาทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วบังเกิดความปิติในพระหฤทัยว่าสิ่งใด ที่พระนางปรารถนาไว้เวลานี้พระนางก็ถึงพร้อมด้วยสิ่งนั้นแล้วทั้งหมด ทรงมีพระดำริว่ากัลยาณกรรมอันพระนางได้ทำมาแล้วในกาลก่อน พระนางจึงได้มาสำเร็จในชาตินี้ กรรมอันเป็นกุศล ควรที่พระนางคิดทำไว้ในอนาคตก่อนที่จะชราภาธ ด้วยพระดำริเช่นนั้นเอง พระนางก็ทรงสรงน้ำ ฉลองพระองค์แล้วนำข้าราชบริพารออกสำรวจรอบพระนคร เห็นสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างพระอารามแห่งใหม่ขึ้น ๔ มุมเมืองนั้น ได้แก่

1. วัดอรัญญิกกรัมมการาม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ทรงสร้างวิหารและพระพุทธรูป แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์ มีพระสังฆเถระเป็นประธาน
2. วัดอาพัทธาราม ทางทิศเหนือของพระนคร มีวิหารหลังหนึ่ง สำหรับพระสงฆ์ผู้มาแต่ลังการาม

3. วัดมหาวนาราม ทางทิศตะวันตกของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูป และกุฏิสำหรับให้พระสงฆ์จำพรรษา
4. วัดมหารัดาราม ทางทิศใต้ของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูปอย่างงดงาม ให้พระสงฆ์จำพรรษาและเลี้ยงดูด้วยข้าวด้วยน้ำ

อาณา ประชาราษฏร์ต่างพากันอนุโมทนาและโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการสร้างวัดเพิ่ม เติม อีกเช่นกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ก็พากันหอบลูกจูงหลานเข้าวัด

ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพของพระนางจามเทวี ภายหลังจากที่ได้ทรงคืนราชสมบัติให้แก่พระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรส แล้วเมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๒๓๖ พระนางจามเทวีมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ได้ทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว โดยแม่ชีจามเทวีทรงปฏิบัติศาสนา ณ สำนักอารามจามเทวี จนกระทั่งในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พ.ศ. ๑๒๗๔ แม่ชีจามเทวีก็ได้สวรรคตโดยปราศจากโรคใดๆ และได้มีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๑๔๗๖ สิริพระชนมายุได้ ๙๘ พรรษา

หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย แล้ว ก็ได้นำพระอัฐิบรรจุไว้ ณ อารามจามเทวี โดยนครหริภุญชัย เขลางค์ และระมิงค์ ได้ร่วมกันไว้ทุกข์ต่ออีก ๑ปี

ตำนาน พระราชประวัติ พระนางจามเทวี กษัตริย์ศรีหริภุญชัย


ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวีเป็นลูกของเศรษฐีชาวมอญ (เม็ง) ชื่อ นายอินตา มารดาไม่มีชื่อปรากฏ เกิดที่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อวันพฤหัสบดี เวลาใกล้พลบค่ำ เดือนห้า ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๑๑๗๖ อภินิหารตอนพระนางอายุได้ ๓ ขวบนั้น กล่าวกันว่า ได้มี่นกใหญ่ตัวหนึ่งบินเข้ามาหาอาหารในบ้าน แล้วได้โฉบลงมาจับตัวทารกน้อยนี้บินไปในอากาศ ขึ้นไปทางทิศเหนือ จนกระทั่งนกใหญ่ตัวนี้หมดแรงเพราะเหตุใดไม่ปรากฏ จึงปล่อยร่างทารกน้อยนี้ร่วงลงมายังสระใหญ่ ซึ่งทารกก็นอนอค้างอยู่บนใบบัว เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

พระฤาษีวาสุเทพ (สุเทวฤาษี) ซึ่งจำศีลภาวนาอยู่ ณ ดอยสุเทพ ได้ธุดงค์มาพบเข้าก็ทราบว่าทารกคนนี้คงไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ ต้องเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิดเป็นแน่ ท่านจึงใช้พัด (วี) ยื่นไปในสระน้ำนั้นพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า หากทารกนี้มีบุญจริงก็ให้พัดของเรารับร่างน้อยนั้นเข้าฝั่งมาได้เถิด และสิ้นคำอธิษฐาน ร่างของทารกน้อยก็ลอยขึ้นฝั่งได้พร้อมกับพัดที่ใช้รองรับ ดังนั้นท่านฤาษีวาสุเทพจึงได้นำทารกน้อยนี้ไปเลี้ยงดูโดยตั้งชื่อให้ว่า “หญิงวี” ท่านฤาษีวาสุเทพได้เลี้ยงดูหญิงวีจนกระทั่งอายุได้ ๑๓ ขวบ จึงได้ต่อแพยนต์จัดส่งพระนางไปตามนิมิต โดยให้นั่งไปบนแพยนต์ มีวานรติดตามไปดูแล ๓๕ ตัว แพยนต์ซึ่งพระฤาษีเสกด้วยเวทย์มนต์คาถาก็นำพาหญิงวีไปตามลำน้ำใหญ่ จนกระทั่งถึงวัดเชิงท่าตลาดลพบุรี อ.เมือง จ.ลพบุรี (ละโว้) แพยนต์ของหญิงวีก็ลอยเป็นวงกลมอยู่ที่ท่าน้ำนั้น ประชาชนพลเมืองต่างช่วยกันชักลากขึ้นฝั่ง แต่ก็กระทำไม่สำเร็จ จึงพากันไปทูลแจ้งแก่กษัตริย์เมืองละโว้ในขณะนั้นได้ทราบข่าวก็อัศจรรย์ยิ่ง นัก จึงเสด็จมาพร้อมกับรับหญิงวีเป็นธิดาบุญธรรม ต่อจากนั้นก็ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองและเจิมพระขวัญแต่งตั้งให้หญิงวีที่มา กับสายน้ำนี้เป็นพระราชธิดา แห่งกรุงละโว้ธานี และได้ให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า

“เจ้าหญิงจามเทวีศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัติยนารี รัตนกัญญาละโว้บุรีราไชศวรรย์”

เป็น รัชทายาทแห่งนครละโว้ในดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พ.ศ. ๑๑๙๐ ต่อมาเจ้าหญิงจามเทวีฯ ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายรามแห่งกรุงละโว้ และได้ครองราชย์ร่วมกัน
พระนางจามเทวีไปสู่ราชสำนักละโว้

เมื่อพระนางจามเทวีเจริญพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ใกล้จะรุ่นสาว ได้สำเร็จซึ่งวิชาการทั้งหลายเป็นการบริบูรณ์แล้ว ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตา ทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนักเพื่อรับการอภิเษกขึ้นเป็นเชื้อ พระวงศ์ให้สมควรแก่การที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสมในสายตาท่านฤๅษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิเวลานั้น

ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้เนรมิตแพขึ้น ส่งกุมารีน้อยล่องไปตามน้ำจากเมืองเหนือ โดยพญากากะวานรและบริวารจำนวนหนึ่งโดยสารแพไปด้วย อีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงลวปุระว่ากุมารี น้อยนี้จะไปช่วยละโว้ประหารศัตรู เด็กหญิงและวานรทั้งหลายล่องตามลำน้ำไปเป็นเวลานานหลายเดือนจึงเข้าสู่เขตก รุงลวปุระ ประชาชนชาวละโว้สองฝั่งลำน้ำได้โจษขานถึงแพเล็กๆ นี้ด้วยความประหลาดใจครั้นถึงท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล แพเนรมิตก็มิได้ล่องตามน้ำต่อไปกลับลอยวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านเห็นเหตุเป็นอัศจรรย์และต่างพากันชื่นชมเด็กหญิงซึ่งมีผิวพรรณ ผุดผ่องน่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง ความทราบถึงบรรดาขุนนาง จึงได้ไปตรวจดูที่ฝั่งน้ำ เห็นความจริงประจักษ์แก่ตาจึงรีบกลับเข้าพระราชวังกราบบังคมทูล พระเจ้าจักวัติ ผู้ครองกรุงลวปุระให้ทรงทราบทันที

เจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่า น้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันทีนั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปทั้งหมด พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ตามเสด็จชะลอแพเนรมิตเข้าสู่ฝั่ง แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กำลังของเหล่าทหารแห่งกรุงลวปุระไม่อาจชักลากแพเข้าสู่ท่าน้ำได้ ไม่ว่ากษัตริย์จะมีพระบัญชาให้เพิ่มจำนวนทหารมากขึ้นสักเท่าใดก็ตาม การณ์อันเป็นไปโดยอัศจรรย์ดังนี้ ทำให้เจ้าแผ่นดินทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า กุมารีแรกรุ่นในท่ามกลางฝูงวานรบนแพนี้คงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากมาย และแพนั้นก็คงจะเป็นแพวิเศษที่สามัญชนจะไปแตะต้องมิได้ พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้น ไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์

และแล้วเหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีก เป็นคำรบสาม พระเจ้ากรุงลวปุระและพระมเหสีเพียงแต่ทรงชักเชือกนั้นด้วยแรงเฉพาะสอง พระองค์ แพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพรให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบา ยังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร

พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีได้รับ กุมารีน้อยไว้ด้วยความเสน่หาอย่างยิ่ง พระมเหสีนั้นถึงกับเสด็จเข้าไปสวมกอดและจุมพิตกุมารีตั้งแต่แรกขึ้นสู่ฝั่ง พระเจ้ากรุงละโว้ผู้เต็มไปด้วยความปิติในพระหฤทัยได้ทรงน้ำกุมารีผู้น่ารัก ขึ้นประทับบนราชรถ และต่างพากันเสด็จเข้าสู่ราชสำนักกรุงลวปุระท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระ บารมีสองข้างทางด้วยความชื่นชมยินดีโดยทั่วหน้า

พระธิดาแห่งกรุงลวปุระ

ในราชสำนักกรุงละโว้ กุมารีได้รับการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์ให้งดงามสมพระเกียรติ ครั้นแล้วได้เสด็จสู่ท้องพระโรงอันเป็นที่ประชุมเหล่ามุขมนตรีเสนาอำมาตย์ ทั้งหลาย กษัตริย์และพระมเหสีก็เสด็จออกประทับบนพระบัลลังก์ มีพระราชดำรัสให้พระราชครูพยากรณ์ดวงชะตาของเด็กหญิง พระราชครูได้คำนวณกาลชะตาโดยละเอียดแล้วถวายคำพยากรณ์ว่า

“ขอเดชะ กุมารีน้อยผู้นี้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบุญญานุภาพและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ ต่อไปภายหน้าจักได้เป็นถึงจักรพรรดินีครองแว่นแค้น ปรากฏพระเกียรติยศเกริกไกรไปทั่ว แม้ว่าพระราชาและเจ้าชายพระองค์ใดได้เสกสมรสด้วยก็จักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย รัตนะทั้ง ๗ ประการอย่างแน่นอน”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงทราบดังนั้นก็ทรง เปี่ยมด้วยความโสมนัสอย่างยิ่ง เพราะได้ประจักษ์แก่พระปรีชาญาณว่าเทพยดาฟ้าดินได้ประทานกุมารีผู้นี้แด่ พระองค์และกรุงลวปุระ ทั้งพระองค์เองและพระมเหสียังมิได้ทรงมีพระโอรสธิดา จึงทรงมีพระราชโองการให้จัดพระราชพิธีอภิเษกกุมารีวีขึ้นดำรงพระยศเป็นพระ ธิดาแห่งกรุงละโว้และได้ทรงเฉลิมพระนามใหม่ประกาศไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะปุรีราเมศวร

ตำนานว่า วันประกอบพิธีอภิเษกนั้นเป็นวันที่ ๓ ภายหลังพระนางจามเทวีเสด็จเข้าสู่ราชสำนักลวปุระ ตรงกับวารดิถีอาทิตยวารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐ เวลานั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา เจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งนครลวปุระทรงถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นปฐมว่า

“ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่าข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกทางที่จะยังความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้”

สิ้นพระราชดำรัส ปวงเสนาอำมาตย์และพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องถวายพระพรพระธิดาพระองค์ ใหม่ ทั้งราชสำนักและบ้านเมืองกระหึ่มด้วยเสียงมโหรีปี่พาทย์ที่บรรเลงเพลง สรรเสริญ มีการบังเกิดพระพิรุณโปรยปรายเป็นละอองชุ่มเย็นไปทั่วเมืองละโว้เป็นกาล อัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังพระราชพิธีอภิเษก พระเจ้ากรุงละโว้ได้พระราชทานพระธิดาในพระเจ้าทศราชแห่งกรุงรัตนปุระ ๒ พระองค์ คือ เจ้าหญิงปทุมวดี และ เจ้าหญิงเกษวดี ให้เป็นพระพี่เลี้ยงคอยถวายการดูแลพระธิดาพระองค์ใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ถวายการสอนวิชาศิลปะศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมแก่พระธิดาน้อยด้วย
สงครามชิงเจ้าหญิงจามเทวี

เจ้าหญิงจามเทวีได้เสด็จประทับในราชสำนักกรุงลวปุระ และเจริญพระชันษาขึ้นโดยเป็นที่รักใคร่เสน่หาของพระราชา พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเสนาอำมาตย์และประชาชนชาวละโว้ทั้งหมด เวลาได้ล่วงเลยจนพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา ปรากฏว่าทรงมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปยังทุกอาณาจักรอันใกล้เคียง พระปรีชาญาณและบุญญานุภาพแห่งพระองค์นั้นก็แผ่ไพศาล เป็นที่หมายปองของเจ้าครองนครต่างๆ

ความงดงามในพระรูปแห่งพระองค์หญิงจามเทวีนั้น เป็นที่เล่าลือกันว่าไม่มีหญิงใดจะทัดเทียมทั้งสิ้น ดังมีบรรยายไว้ในตำนานต่างๆ ว่า

“ดวงพระพักตร์เป็น รูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงพระดำริว่าพระธิดา ของพระองค์ทรงมีพระชันษาสมควรที่จะเสกสมรสแล้ว จึงได้ทรงกำหนดให้เจ้าหญิงจามเทวีทรงหมั้นหมายกับ เจ้าชายรามราช แห่งนครรามบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กรุงลวปุระ ตามตำนานเจ้าชายรามราชนั้นทรงเป็นพระญาติของพระเจ้ากรุงละโว้ และทรงมีพระจริยาวัตรดีงามเหมาะสมกับเจ้าหญิงจามเทวีอยู่ วันที่ประกอบพระราชพิธีหมั้นตรงกับวันพฤหัสบดี ข้างขึ้น เดือน ๖ พุทธศักราช ๑๑๙๖ เจ้าผู้ครองนครทั้งหลายต่าง พากันส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเป็นเกียรติแก่พระราชพิธีดังกล่าวอย่าง มโหฬาร ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว ก็มีมหรสพสมโภชกันอย่างเอิกเกริกในกรุงละโว้ เป็นที่รื่นเริงสนุกสนานแก่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปโดยถ้วนหน้า

แต่แล้ว เรื่องยุ่งยากก็เกิดขึ้นในปีนั้นเอง เมื่อเจ้าชายแห่งนครโกสัมพีได้ส่งพระราชสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการมากมาย มาถวายพระเจ้ากรุงลวปุระ พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์จะขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเป็นพระชายาเพื่อเป็นเกียรติ แก่นครโกสัมพี ซึ่งเป็นนครใหญ่เหมาะสมด้วยศักดิ์ศรีแห่งพระนาง พระเจ้ากรุงละโว้ได้ทรงตอบสสาส์นนั้นไปตามความเป็นจริงว่าทรงหมั้นเจ้าหญิง จามเทวีไว้กับเจ้าชายรามราชแล้ว การณ์กลับกลายเป็นว่าเจ้าชายแห่งโกสัมพีทรงลุแก่โทสะ ทรงมีพระดำริว่ากรุงละโว้คงไม่ประสงค์จะมีสัมพันธไมตรีกับกรุงโกสัมพีเสีย แล้ว จึงทรงรวบรวมกองทัพโดยความช่วยเหลือของพระญาติ พระวงศ์ และพระราชาแห่งกลิงครัฐที่เป็นพันธมิตร ทำให้กองทัพของพระองค์เป็นกองทัพใหญ่มีกษัตริย์เป็นผู้นำทัพทั้งสิ้น ในราวเดือนอ้าย ปลายปี พ.ศ. ๑๑๙๖ กองทัพนี้ได้ยกเข้าโจมตีนครรามบุรีเป็นอันดับแรก อาจเป็นเพราะความแค้นหรือนครนั้นอยู่ในเส้นทางการเดินทัพก่อนจะถึงละโว้ก็ เป็นได้

แน่นอน กองทัพที่รักษานครรามบุรีนั้นไม่มีความหวังที่จะต้านทานข้าศึกที่ยกพลมามาก มายขนาดนั้นได้ เจ้าชายรามราชต้องทรงนำกองทหารเท่าที่มีตั้งรับข้าศึกไว้เพื่อประวิงเวลา และส่งสาส์นขอความช่วยเหลือจากกรุงลวปุระอย่างเร่งด่วนที่สุด

ทางละโว้เมื่อทราบข่าวก็จัดประชุมกันโดย ทันที บรรดาแม่ทัพนายกองได้ถวายความเห็นแก่พระเจ้ากรุงละโว้ว่า ไม่น่าจะทำศึกกับกองทัพโกสัมพีเพราะว่าเป็นกองทัพขนาดใหญ่มาก เสนาบดีต่างๆ ก็กราบบังคมทูลว่า เห็นทีคราวนี้จะต้องรับไมตรีจากเจ้าชายแห่งโกสัมพีเสียแล้ว แต่ในท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของทุกคนในที่ประชุม เจ้าหญิงจามเทวีซึ่งประทับอยู่ในที่นั้นด้วยได้ทรงมีพระดำรัสว่า “น่าจะต้องเข้าร่วมสงคราม”

ทุกคนในที่นั้นล้วนตกตะลึงพรึงเพริด แม้แต่พระบิดาและพระมารดา เจ้าหญิงผู้ทรงพระสิริโฉมแห่งลวปุระตรัสต่อไปอย่างเด็ดเดี่ยวว่า พระองค์จะทรงนำทัพเอง เวลานั้นพระมเหสีจึงรีบทัดทานว่า เป็นหญิงจะนำทัพไปออกศึกได้อย่างไร พระธิดาก็ตรัสตอบว่า

“หากว่าหม่อมฉันไม่ออกศึกเสียเอง กรุงลวปุระซึ่งเป็นเมืองใหญ่ก็จะเป็นที่ครหาต่อไปได้ อีกทั้งเหล่าประเทศราชจักต้องแข็งข้อเพราะเห็นว่าละโว้อ่อนแอ ปัญหาต่างๆ จะบังเกิดตามมาอีกมากมายนัก และที่สำคัญยิ่ง คือ กองทัพของโกสัมพีที่ยกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ เจ้าชายแห่งละโว้จะทำศึกก็ไม่มี จึงสมควรที่พระบิดาเจ้าจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลูกหญิงของพระองค์ออก กระทำศึกจะเป็นการเหมาะสมแก่พระเกียรติยศของบรรดากษัตริย์ที่ทรงนำทัพมานั้น ด้วย”

ด้วยจำนนต่อเหตุผลนั้น และพระเจ้ากรุงละโว้ทรงระลึกได้ว่าเมื่อแรกรับพระธิดาองค์นี้เข้าวัง ทราบความที่ท่านสุเทวฤๅษีฝากมาว่าพระธิดาพระองค์นี้จะมาช่วยบำราบอริราช ศัตรู และจากเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วก็แสดงว่า พระธิดานี้ทรงมีบุญญาธิการแก่กล้านัก เห็นทีศัตรูจะทำอันตรายมิได้เป็นแน่ พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีทรงอนุญาตให้พระธิดาทรงจัดทัพจากกรุงลวปุระไป ช่วยเจ้าชายรามราชและโปรดฯ ให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าและพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์เข้ามายังพระอารา หลวงโดยพร้อมกันเพื่อประกอบพิธีถวายพระพรชัยเจ้าหญิงจามเทวีเสียก่อน

จากนั้นเจ้าหญิงจามเทวีทรงมีรับสั่งให้ ขุนศึกทั้งหลายเตรียมทัพทันที ทรงให้พระพี่เลี้ยงทั้งสองช่วยกันจัดทัพหน้าเป็นชาย ๒๐๐๐ คน หญิง ๕๐๐ คน รวมกับพญากากะวานรและบริวารทั้ง ๓๕ ตัวที่ติดตามมาจากระมิงค์นคร เมื่อการจัดทัพสำเร็จเสร็จสิ้น พระนางจามเทวีเสด็จประทับเบื้องหน้าทวยทหารทั้งปวง ตรัสว่า

“เพื่อปิตุภูมิ เราจะขอทำหน้าที่และยอมสละชีวิตก่อนท่านทั้งหลาย แต่ถ้าผู้ใดไม่เต็มใจไปราชการด้วยครั้งนี้เราจะไม่เอาโทษ จะปลดปล่อยทันที”

บรรดาทหารได้ยินรับสั่งเช่นนั้นก็พากัน โห่ร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่ ทุกคนถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะขอตายเพื่อพระนางและผืนแผ่นดินละโว้โดยไม่มีใครคิดจะหนีจากการสู้รบเลย กองทัพของเจ้าหญิงจามเทวีนี้แม้จะมีไพร่พลไม่สู้มาก แต่ไม่นานต่อมาก็ได้กำลังสมทบจากกองทัพนครต่างๆ ที่มีสัมพันธไมตรีกับกรุงละโว้มาแต่เดิม ตามตำนานว่ากองทัพจากพันธมิตรที่มาช่วยกรุงละโว้ครั้งนี้มาจากกรุงรัตนปุระ ทัพหนึ่ง เมืองชากังราวทัพหนึ่ง และเมืองอัตตะปืออีกทัพหนึ่ง ล้วนแต่กษัตริย์และพระราชวงศ์องค์สำคัญทรงนำทัพมาเองทั้งสิ้น

ครั้งท้องฟ้าแจ่มใส เห็นเป็นศุภมิตรอันดีแล้ว พระเจ้ากรุงละโว้จึงพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์แก่พระธิดาของพระองค์เจ้าหญิง จามเทวีทรงนำไพร่พลเดินทางออกจากละโว้ทันที เมื่อเดินทัพไปถึงเขตนครเขื่อนขัณฑ์ จึงส่งม้าเร็วเชิญพระอักษรไปกราบทูลพระคู่หมั้นว่าพระนางกำลังนำทัพไปช่วย แล้ว ขอให้ทรงทิ้งเมืองเสีย อพยพชาวเมืองออกไปแล้วแกล้งทำเป็นล่าถอยทัพไปเรื่อยๆ ไปทางเทือกเขาสุวรรณบรรพต ซึ่งเจ้าชายรามราชก็ทรงทำตามแผนการนั้นทุกอย่าง ดังนั้นเมื่อทหารรามบุรีชุดสุดท้ายทิ้งพระนครไปแล้วฝ่ายโกสัมพีเข้ายึดเมือง ได้ จึงพบกับเมืองร้างที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เมื่อเห็นว่ากองทัพและประชาชนชาวรามบุรีกำลังมุ่งหน้าไปทางเทือกเขาสุวรรณ บรรพต จึงรีบเร่งติดตามไปทันที

ส่วนพระธิดาแห่งกรุงลวปุระก็ทรงนำกองทัพ ทั้งหมดไปตั้งค่ายรอที่เขาสุวรรณบรรพตเรียบร้อยแล้ว และทรงแบ่งกองทัพทั้งหมอออกเป็น ๓ ส่วนโอบล้อมเทือกเขา เมื่อกองทัพฝ่ายรามบุรีล่าถอยมาถึง กองทัพฝ่ายโกสัมพีได้ตามติดเพื่อไล่ขยี้อย่างเมามันจนกระทั่งเข้ามาตกในวง ล้อมฝ่ายละโว้ ด้วยเหตุนั้นทัพหน้าของโกสัมพีทั้งหมดจึงถูกโจมตีย่อยยับภายในเวลาอันรวด เร็ว รี้พลมากมายต้องสูญเสียไปในสมรภูมินี้

ในที่สุดทัพหลวงของทั้งสองฝ่ายก็เข้าห้ำ หั่นกัน กองทัพละโว้และพันธมิตรสามารถยันทัพฝ่ายโกสัมพีได้อย่างเหนียวแน่น และได้รับความเสียหายมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย พระนางจามเทวีจึงได้ส่งพระราชสาส์นถวายเจ้าชายโกสัมพีว่า

“ข้าแต่เจ้าพี่ สงครามครั้งนี้เหตุเกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างเจ้าพี่กับหม่อมฉัน มิควรที่จะให้ชีวิตทวยราษฏร์ทั้งหลายต้องมาล้มตาย จะเป็นที่ครหาแก่หมู่เทพยาดาและมนุษย์ทั้งหลายเปล่าๆ ขอเชิญเจ้าพี่แต่ทหารมาทำการสู้รบกันตัวต่อตัว ให้เป็นขวัญตาแก่ไพร่ฟ้าเข้าแผ่นดินเถิด”

จอมทัพแห่งโกสัมพีเมื่อประจักษ์ความจริง จากราชสาส์นนั้นว่าหญิงที่ตนหลงรักกลายเป็นผู้นำทัพฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องมา ประหัตประหารกัน ก็ทรงวิตกไปหลายประการ พระองค์ไม่คาดคิดเลยว่าจะต้องมาสัประยุทธ์กับเจ้าหญิงโฉมงามที่พระองค์หมาย ปอง และยังเป็นเจ้าหญิงพระองค์เดียวกับที่วางแผนการอันชาญฉลาดที่ทำให้กองทัพของ พระองค์ต้องประสบความพินาศย่อยยับถึงเพียงนี้ อีกทั้งพระองค์ยังเคยทรงทราบมาว่า เจ้าหญิงทรงเป็นศิษย์พระฤๅษีคาถาอาคมก็คงจะเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นไหนเลยจะมาเป็นแม่ทัพ สถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้พระองค์ไม่อาจตัดสินพระทัยอย่างไรได้ ต่อจากนั้นอีก ๒ วัน กองทัพทั้งสองจึงหยุดการสู้รบในรูปแบบของการระดมกำลังทหารทั้งหมด แล้วเปลี่ยนเป็นจัดขุนศึกของแต่ละฝ่ายออกสู้รบกันตัวต่อตัวแทน

ล่วงไปได้ ๖ วันในการทำสงครามนี้ บรรดากษัตริย์และทวยทหารทั้งสองฝ่ายต้องเอาชีวิตไปทิ้งเป็นอันมาก โดยเฉพาะที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดคือ กองทัพฝ่ายโกสัมพี เพราะเสียขุนศึกที่เป็นเจ้านายประเทศพันธมิตรไป ๒ พระองค์ ในขณะที่ขุนศึกพันธมิตรของละโว้สิ้นพระชนม์ไปเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

ลุวันที่ ๗ ก็ถึงเวลาที่ทั้งสองต้องเผชิญหน้ากัน เพื่อผลแพ้ชนะที่เด็ดขาด ท่ามกลางสายตาของทหารหาญทั้งหลาย เจ้าชายแห่งโกสัมพีถึงแก่ทรงตกตะลึง เมื่อเจ้าหญิงจามเทวีผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งกว่าสตรีใดที่พระองค์ทรงเคย ทอดพระเนตรมาก่อนปรากฏพระองค์ในชุดขุนศึกฝ่ายละโว้อันงดงามวิจิตรแพรวพราย พร้อมด้วยพระแสงอาญาสิทธิ์เลอค่าที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบิดา เจ้าหญิงผู้เลอโฉมทอดพระเนตรเห็นอีกฝ่ายตกตะลึงอยู่เช่นนั้น จึงตรัส

“เจ้าพี่จะมัวยืน เหม่ออยู่ด้วยเหตุอันใดเล่า หม่อมฉันขอเชิญเจ้าพี่มาประลองฝีมือกัน อย่าให้ทหารทั้งหลายต้องพลอยยากลำบากด้วยเราต่อไปอีกเลย”

เจ้าชายแห่งโกสัมพีได้สดับเช่นนั้นพระสติจึงกลับคืนมา ทรงมีรับสั่งย้อมถามทันทีว่า

“การศึกครั้งนี้ใยพระนางต้องทำพระวรกายมาให้เปรอะเปื้อนโลหิตอันมิบังควรสำหรับสตรีเพศ หรือละโว้นั้นจะสิ้นแล้วซึ่งชายชาตรี”

“ อันละโว้จะสิ้นชายชาตรีนั้นหามิได้” เจ้าหญิงทรงมีพระดำรัสตอบ “ แต่หม่อมฉันเป็นราชธิดาแห่งเสด็จพ่อ เสด็จแม่ เป็นเอกธิดาภายใต้เศวตฉัตร อันบุรุษมีใจสตรีก็มีใจ ผิว่าหม่อมฉันพลาดพลั้งเจ้าพี่ก็เอาชีวิตหม่อมฉันไปเถิด หากเจ้าพี่พลาดพลั้งก็ขอได้โปรดอภัยให้แก่หม่อมฉัน”

เจ้าชายโกสัมพีทรงเห็นความหาญกล้าของพระ นางเช่นนั้น ก็ยังไม่ทรงตัดสินพระทัยจะประลองฝีมือกันโดยทันที และเนื่องจากเห็นว่าเวลาใกล้เที่ยงวันด้วย จึงทรงมีรับสั่งว่าขอเชิญน้องหญิงและไพล่พลพักเหนื่อยกันก่อนเถิด พอบ่ายอ่อนเราจึงค่อยมาสู้กั้น พระนางก็ทรงเห็นชอบด้วย

และแล้ว เมื่อเวลาที่จะต้องสู้รบกันจริงๆ มาถึง เจ้าชายแห่งโกสัมพีจึงได้ทรงประจักษ์แก่พระองค์เองอีกคำรบหนึ่งว่า เจ้าหญิงแห่งลวปุระที่พระองค์หมายปองนี้ไม่เพียงแต่จะทรงมีพระสิริโฉมงดงาม และทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในการวางแผนการรบเท่านั้น พระนางเธอยังทรงมีวิชาเพลงดาบที่เหนือกว่าพระองค์อีกด้วย ในที่สุดหลังจากการดวลดาบกันตัวต่อคัว เจ้าชายทรงเพลี่ยงพล้ำถูกนางจามเทวีฟันพระกรได้รับบาดเจ็บ ผลแพ้ชนะก็ปรากฏแก่ตาเหล่าทหารทั้งหลาย และด้วยเหตุนั้นเองทหารฝ่ายโกสัมพีทั้งปวงเกิดแตกตื่นพากั้นถอยทัพ ทหารละโว้ก็ติดตามตีซ้ำ ยังความเสียหายย่อยยับแก่กองทัพผู้รุกรานเป็นอันมาก เจ้าชายแห่งโกสัมพีทรงอับอายและเสียพระทัยเกินกว่าจะทรงยอมรับความพ่ายแพ้ ครั้งนี้ ได้ปลงพระชนม์พระองค์เองเสียในที่รบ กองทัพโกสัมพีที่เหลือก็เสียขวัญแตกพ่ายถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก

ชัยชนะในการสงครามนี้นำมาซึ่งความชื่นชม ยินดีแก่พระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสี ตลอดจนบรรดาเสนาอำมาตย์ ทหารและประชาชนชาวละโว้เป็นอันมาก เมื่อพระธิดาแห่งกรุงลวปุระทรงนำกองทัพกลับถึงพระนครจึงได้มีการเฉลิมฉลอง อย่างยิ่งใหญ่ ตามตำนานว่าอยู่ในช่วงสามเดือน ปีพุทธศักราช ๑๑๙๖

แต่เจ้าหญิงจามเทวีนั้น มิได้ทรงปิติยินดีในชัยชนะที่ทรงได้รับเลย แม้จะทรงได้รับการสรรเสริญจากราชสำนักรวมทั้งประชาชน ตลอดจนกษัตริย์ผู้ครองนครที่เป็นพันธมิตรตลอดไปจนถึงประเทศราชและอาณาจักร อื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป จนชื่อเสียงของพระนางขจรขจายไปทั่ว พระนางยังทรงระลึกถึงภาพอันสยดสยองของเหล่ากษัตริย์และทหารทั้งสองฝ่ายที่ ต้องล้มตายเพราะพระนางเป็นต้นเหตุ จึงทรงมีรับสั่งให้สร้างศาลาเป็นจำนวนเท่ากับกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ในครั้ง นี้ ทรงสร้างวัดขึ้นในพื้นที่อันเป็นสมรภูมิรบนั้นด้วยวัดหนึ่งและเปลี่ยนชื่อ สุวรรณบรรพตเสียใหม่ว่า “วังเจ้า” เพราะเหตุที่กษัตริย์และเจ้านายทั้งหลายมาสิ้นพระชนม์ที่นี่จำนวนมากนั่นเอง

ส่วนพระศพของเจ้าชายแห่งโกสัมพีนั้น พระนางได้ทรงนำปรอทจากสุวรรณบรรพตมากรอกพระศพ ทำการตกแต่งให้สมพระเกียรติก่อนที่จะตั้งพระศพบำเพ็ญกุศลไว้ระยะหนึ่งแล้ว จึงถวายพระเพลิงร่วมกับกษัตริย์และเจ้านายพระองค์อื่น หลังจากนั้นทรงจัดให้มีพิธีสงฆ์เพื่อบำเพ็ญกุศลแก่ดวงพระวิญญาณและทหารที่ เสียชีวิตอีกครั้ง พระอัฐิก็โปรดฯให้อัญเชิญกลับไปยังโกสัมพีและนครที่มาช่วยโกสัมพีรบ

ภายหลังพิธีการต่างๆ เสร็จสิ้น พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงจัดพระราชพิธีสยุมพรพระธิดาของพระองค์กับเจ้าชายราม ราช โดยจัดอย่างยิ่งใหญ่ครบครันตามราชประเพณีโบราณทุกประการ ตำนานว่าวันประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสนั้นตรงกับวันข้างขึ้น เดือน ๖ ปีขาล หรือพุทธศักราช ๑๑๙๘ จากนั้นองค์ขัตติยนารีแห่งละโว้เสด็จไปเมืองรามบุรีกับพระสวามีเพื่อปรับ ปรุงสภาพภายในเมืองเสียใหม่พร้อมทั้งวางแผนราชการงานเมืองให้เป็นปึกแผ่น จะเห็นว่าเจ้าหญิงจามเทวีได้ทรงแสดงให้เห็นพระปรีชาญาณอันเหมาะสมแก่การที่ จะต้องทรงเป็นจอมกษัตริย์ต่อไปในกาลข้างหน้าตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระธิดา แห่งเจ้ากรุงละโว้เท่านั้น

สุเทวฤๅษีสร้างนครหริภุญไชย

ณ ดินแดนทางภาคเหนือซึ่งเป็นถิ่นประสูติของเจ้าหญิงจามเทวีนั้น เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองมิคสังคร ซึ่งท่านสุเทวฤๅษีได้สร้างไว้ให้โอรสธิดาของท่าน ซึ่งบังเกิดจากนางเนื้อที่ได้มาดูดกินน้ำมูตรของท่านฤๅษีที่มีอสุจิปนอยู่ เข้าไป รวมกับผู้บังเกิดอย่างอัศจรรย์ในรอยเท้าสัตว์ ๓ ชนิด คือ ช้าง แรด และวัว หรือ โคลานซึ่งท่านฤๅษีไปพบเข้าภายหลังลงจากดอยสุเทพ เจ้าผู้ครองมิคสังครองค์แรกนี้มีพระนามว่า กุนรฤษี โดยมีพระชายาเป็นพี่น้องกันคือ มิคุปปัตติ ทั้งสองพระองค์ได้ครองนครโดยตั้งอยู่ในโอวาทของพระสุเทวฤๅษีได้ ๗๗ ปี มีโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้ากุนริกนาสหรือกุนริสิคนาส เจ้ากุนริกทังษะ และเจ้ากุนริกโรส พระธิดาอีก ๑ องค์ ชื่อเจ้าปทุมาเทวี ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้สร้างเมืองให้พระโอรสทั้ง ๓ ปกครององค์ละเมือง เมื่อพระเจ้ากุนรฤษีสวรรคต เจ้ากุนริกนาสจึงเสด็จกลับไปครองเมืองมิคสังคร แล้วกลับไปครองเมืองรันนปุระที่ท่านฤๅษีสร่างไง้ให้แต่เดิมอีก บางตำนานก็ว่าท่านฤๅษีเนรมิตเมืองใหม่ให้อีกเมืองหนึ่งให้เจ้ากุนริกนาสละ จากเมืองมิคสังครไปปกครอง ชื่อรมยนคร เพราะท่านฤๅษีเกิดเห็นว่าเมืองมิคสังครเป็นที่ไม่สมควร

รมยนครแห่งนี้ต่อมาได้ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากเจ้าครองนครเป็นผู้ปราศจากทศพิธราชธรรม ไม่เอาใจใส่ในความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ คือ เกิดมีคดีลูกตบตีมารดาของตน เมื่อมารดาเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าครองนคร กลับได้รับกาตัดสินว่าการใดๆ ที่ลูกกระทำไปเป็นการถูกต้องแล้ว ซ้ำลงโทษให้ไล่ผู้เป็นแม่นั้นไปจากเมืองอีกด้วย หญิงนั้นจึงได้ร้องไห้วิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังผลให้เทวะทั้งหลายพิโรธ บันดาลให้เกิดอาเพศและภยันตรายต่างๆ ผู้คนในเมืองนั้นได้รับความเดือดร้อน จนในที่สุดบรรดาผู้มีศีลธรรมได้พากันอพยพไปเสียจากเมือง เทวดาทั้งหลายจึงบันดาลให้มหาอุทกท่วมนครนั้นล่มจมไปหมดสิ้น กล่าวกันว่าที่ที่เคยเป็นเมืองรมยนครนั้นมีชื่อปรากฏภายหลังว่า หนองมอญ

ท่านสุเทวฤๅษีเฝ้ามองความเป็นไปต่างๆ ด้วยความสลดใจ และเห็นว่าบรรดาผู้มีศีลธรรมจากนครเหล่านั้นยังคงพากันเร่ร่อนอยู่ จึงได้เชิญฤๅษีพี่น้องของท่านคือ ท่านสุกทันตฤๅษีที่ละโว้ ท่านสุพรหมฤๅษีที่สุภบรรพต รวมทั้งเหล่าฤๅษีผู้มีตบะแก่กล้าอื่นๆ มาประชุมกันและช่วยกันสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ โดยให้นกหัสดีลิงก์นำหอยสังข์ขนาดใหญ่จากมหาสมุทรมาเป็นแบบ แล้วใช้ไม้ขีดแผ่นดินเป็นวงไปตามสัณฐานของเปลือกหอยสังข์นั้น วงขอบปากหอยก็เกิดเป็นคูน้ำคันดินขึ้น พระดาบสทั้งสองจึงประกาศไล่รุกขเทวดาทั้งหลายภายในเขตเมืองใหม่ให้ออกไปอยู่ ที่อื่น ยังแต่รุกขเทวดาอนาถาองค์หนึ่งทุพพลภาพไม่สามารถจะย้ายไปจากที่นั่นได้ จึงขออาศัยอยู่ที่เดิมต่อไปจนกว่าจะจุติ ท่านฤๅษีทั้งสองก็อนุญาตและสถานที่ซึ่งรุกขเทวดาเฒ่านั้นอาศัยเป็นเนินดิน พูนสูงกว่าที่อื่น นครนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ลำพูน
พระนางจามเทวีเสด็จไปหริภุญไชย

เมื่อคณะท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะถึง เมืองละโว้ พระบิดาของเจ้าหญิงจามเทวีได้จัดให้ทั้งหมดพำนักอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง วันต่อมาทั้งหมดจึงได้เข้าเฝ้า ณ พระราชวังแห่งลวปุระ ท่านสุกทันตฤๅษีได้ถวายพระพรว่า

“ในวันนี้ตูทั้ง หลายชื่อดังนี้น้อมนำมายังบรรณาการของฝากอันท่านสุเทวฤๅษีมาถวายมหาราชเจ้า และท่านสุเทวฤๅษีตนนี้เป็นสหายด้วยเราแท้จริง เธอชวนเราไปช่วยสร้างพระนครอันหนึ่งหนน้ำขุนโพ้น พระนครอันนั้นก็สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยทุกประการแล้ว บัดนี้สุเทวฤๅษีมีความปรารถนาอยากจะใคร่ได้เชื้อชาติท้าวพระยาที่อื่นที่ ประกอบไปด้วยศีลและปัญญา ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมไปเสวยราชสมบัติในพระนครที่นั้น อำมาตย์จึงได้แนะนำว่า เชื้อชาติท้าวพระยาผู้ดีหาไม่มีในที่แห่งอื่น แต่รู้ข่าวว่าพระราชธิดาของมหาราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่านางจามเทวี ถ้าเราได้พระนางมาเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาในพระนครนี้จะสมควรยิ่งนัก

เหตุดังนี้ ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ให้นายควิยะพร้อมด้วยบริวารมีประมาณ ๕๐๐ คน น้อมนำมายังเครื่องบรรณาการของฝากกับด้วยตัวเรา ให้นำทูลถวายมหาราชเจ้า เพื่อให้เราทูลขอพระนางจามเทวีราชธิดาของพระองค์ไปเสวยราชสมบัติเป็นนาง พระยาในนครนั้นด้วย ขอมหาราชเจ้าได้ทรงพระเมตตา โปรดประทานพระอนุญาตให้พระนางได้ไปเสวยราชสมบัติในพระนครนั้นด้วย”

พระเจ้ากรุงละโว้เมื่อทรงสดับข่าวอันเป็นมหามงคลเช่นนั้น จึงทรงมีพระดำรัสตอบว่า

“ข้าแต่เจ้าฤๅษี เราจะตอบในบัดเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ จะต้องไต่ถามลูกเขาดูเสียก่อน เหตุว่าข่าวสาส์นอันพระสุเทวะให้มาถึงเรานั้นยากนักหนา ถ้าหากเราให้เขาไป เขาพอใจไปก็ดีอยู่ ถ้าเขาไม่พอใจจะไป เราจะบังคับให้เขาไปนั้นเป็นไปไม่ได้”

จากนั้นจึงทรงมีรับสั่งให้อำมาตย์นำข้อ ความที่ท่านสุกทันตฤๅษีกราบทูลนั้นไปทูลเจ้าหญิงจามเทวี เมื่อพระนางสดับแล้ว ก็ทรงเข้าพระทัยได้ดีทุกอย่าง จึงได้กราบทูลพระบิดาว่า

“ข้าแต่พระบิดาเจ้า หม่อมฉันขอกราบทูลใต้เบื้องบาทพระบิดาเป็นเจ้า เมื่อพระบิดาทรงมีพระประสงค์จะให้หม่อมฉันไปเสวยราชสมบัติในพระนครหนขุนน้ำ โพ้น หม่อมฉันขอรับพระราชทานไปตามพระประสงค์พระบิดาทุกประการ ถ้าหากว่าพระบิดาไม่พอพระทัยในการไปเช่นนั้น หม่อมฉันก็ไม่สามารถจะล่วงพระอาญาพระบิดาไปได้”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงสดับเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมีพระดำรัสแก่พระธิดาว่า “ข่าว สารอันเจ้าฤๅษีผู้ประกอบไปด้วยฤทธานุภาพให้มาถึงเรา ๒ พ่อลูกนี้เป็นอันประเสริฐยิ่งนัก บัดนี้พ่อจักให้เจ้าไปเสวยราชสมบัติเป็นนางพระยาหนขุนน้ำตามคำพ่อเจ้าฤๅษีขอ มานั้นแท้จริง”

ในการตัดสินใจเสด็จกลับมาครองเมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวีนั้น พระนางได้ทูลเชิญเจ้ารามพระสวามีมาด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นพระนางจึงต้องเสด็จมาโดยลำพัง ขณะนั้นได้กำลังทรงพระครรภ์ได้ราว ๓ เดือน ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าส่วนพระสวามีนั้น พระเจ้ากรุงละโว้ก็ทรงตั้งให้เป็นที่อุปราชครองเมืองรามบุรี และเพราะว่าเวลานั้นเจ้าหญิงจามเทวีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงมีพระราชโองการให้เจ้าชายรามราชเข้าเฝ้า ว่าการที่ท่านสุเทวฤๅษีส่งทูตมาขอเจ้าหญิงจามเทวีไปเป็นนางพระยา พ่อก็มีความปรารถนาอยากจะให้ไปนี้แหละ เจ้าจงอยู่เป็นอุปราชากับพ่อ หากมีความพอใจในหญิงใดพ่อจะจัดให้ตามความประสงค์ทุกประการ เจ้าชายรามราชจึงกราบทูลว่าขุนน้ำโพ้นไกลนักหนาทีเดียว ผิว่าตามใจของพระองค์แล้วพระองค์ก็ไม่อยากจะให้พระนางจากไป จึงแม้เช่นนั้นพระองค์ก็เห็นดีในพระประสงค์พระเจ้ากรุงละโว้ทุกอย่าง ทูลแล้วเสด็จกลับวัง และแก่เจ้าหญิงจามเทวีว่า

“น้องรัก บัดนี้พระราชบิดาเราพระองค์มีพระประสงค์จะให้น้องไปเป็นนางพระยาในพระนครขุน น้ำโพ้น พระองค์ตรัสดังนี้ พระน้องเจ้าจงไปเป็นนางพระยา เสวยราชสมบัติให้ชอบในทศพิธราชธรรมเถิด ความสวัสดีจงมีแก่พระน้องนางเทอญ”

เจ้าหญิงจามเทวีก็กราบไหว้พระสวามี แล้วทูลตอบว่า

“สาธุ ข้าแต่พระองค์ผู้มีบุญ หม่อมฉันจักได้อำลาพระบาทพลัดพรากไปไกลครั้งนี้ ขอพระราชสามีเป็นเจ้าแห่งหม่อมฉันนี้จงได้อยู่เป็นอุปราชากับด้วยพระราชบิดา ของหม่อมฉัน ตามจารีตประเพณีอันเป็นคลองแห่งอุปราชาอันดีมาแต่ก่อน ให้เหมือนดังเมื่อเราทั้งสองยังอยู่พร้อมเพรียงกันนั้นทุกประการเทอญ”

แต่ในจามเทวีวงศ์กล่าวว่าเจ้าชายรามราช ออกบวชเสียในขณะนั้น เจ้าหญิงจามเทวีจึงทรงอยู่ในฐานะไร้พระสวามี ทางลำพูนจึงได้ส่งสาส์นมาทูลขอดังกล่าว ตำนานพื้นบ้านว่าเจ้าหญิงจามเทวีทรงรับที่จะครองเมืองลำพูนเพราะว่าเมือง ลำพูนเวลานั้นราษฎรเดือดร้อนด้วยขาดผู้นำ และพระนางก็ระลึกถึงพระคุณท่านสุเทวฤๅษีที่เคยชุบเลี้ยงมาแต่ก่อน

และด้วยเหตุนั้น จึงมีพระราชโองการอภิเษกเจ้าหญิงจามเทวีขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยเฉลิมพระนามใหม่ดังปรากฏไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย

จากนั้นได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ข้าราชบริพารตามเสด็จจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์ พราหมณ์ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาต่างๆ ตามคำกราบบังคมทูลของพระนางจามเทวีสำหรับที่จะไปสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่นั้น ให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น หมู่คนทั้งหลายที่พระนางจามเทวีทูลขอนั้น และได้รับพระราชทานอย่างครบถ้วนนั้นได้แก่

1. พระมหาเถระที่ทรงปิฎก ๕๐๐ รูป
2. หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน
3. บัณฑิต ๕๐๐ คน
4. หมู่ช่างแกะสลัก ๕๐๐ คน
5. ช่างแก้วแหวน ๕๐๐ คน
6. พ่อเลี้ยง ๕๐๐ คน
7. แม่เลี้ยง ๕๐๐ คน
8. หมู่หมอโหรา ๕๐๐ คน
9. หมอยา ๕๐๐ คน
10. ช่างเงิน ๕๐๐ คน
11. ช่างทอง ๕๐๐ คน
12. ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน
13. ช่างเขียน ๕๐๐ คน
14. หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ ๕๐๐ คน (คือช่างโยธา) ๕๐๐ คน


ตามตำนานว่า พระนางจามเทวีและข้าราชบริพารทั้งหมดได้เดินทางโดยกระบวนเรือขึ้นไปตามลำน้ำ มุ่งสู่ดินแดนล้านนา และสิ่งสำคัญ ๒ สิ่ง ซึ่งพระนางได้นำไปด้วย คือ พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่เวลานี้องค์หนึ่ง กับ พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน จ.ลำพูนอีกองค์หนึ่ง บางตำนานว่าระหว่างที่ยังมิได้เสด็จถึงนครลำพูนนั้น พระนางได้ทรงศีลและฉลองพระองค์ขาวโดยตลอด

จากเรื่องในตำนาน เส้นทางที่เสด็จโดยชลมารคนั้นเกินระยะเวลายาวนานกว่า ๗ เดือน โดยได้หยุดพัก ณ ตำบลต่างๆ ตายรายทาง ได้แก่

* เมืองบางประบาง ว่ากันว่าจะเป็นปากบางหมื่นหาญ ใกล้ปากน้ำพุทราเวลานี้
* เมืองคันธิกะ ว่ากันว่าจะเป็นนครสวรรค์
* เมืองบุราณะ ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองอะไรในปัจจุบัน
* เมืองเทพบุรี ปัจจุบันคือ บ้านโดน
* เมืองบางพล ปัจจุบันอยู่ใน จ.กำแพงเพชร
* เมืองรากเสียด คือ เกาะรากเสียดเวลานี้
* หาดแห่งหนึ่ง เกิดน้ำรั่วเข้าเรือพระที่นั่ง จึงเรียกกันต่อมาว่า หาดเชียงเรือ
* ตำบลหนึ่ง พระนางจามเทวีทรงมีรับสั่งให้พระพี่เลี้ยงและข้าราชบริพารนำสิ่งของทั้งหลาย อันเปียกชุ่มน้ำขึ้นตาก จึงเรียกสถานที่นี้ต่อมาว่า บ้านตาก
* ตำบลหนึ่ง เป็นที่รวมน้ำแม่วังต่อกับแม่ระมิงค์ รี้พลทั้งหลายพากันง่วงเหงาอยู่ พระนางเองก็ดูเหงาๆ ไป จึงได้เรียกต่อมาว่า จามเหงา หรือ ยามเหงา ครั้นต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสามเงาในทุกวันนี้ ตำนานว่าพระนางโปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระสาวกให้คนทั้งหลายสักการบูชาสรณาคมน์ ที่นั้นจึงได้ชื่อเวลาต่อมาว่า พุทธสมาคม
* ตำบลหนึ่ง มีแก่งน้ำมีหน้าผาชะโงกเงื้อมลงปรกแม่น้ำ ที่นั่นนางกำนัลคนหนึ่งเสียชีวิต พระนางจามเทวีจึงพระราชทานเพลิงศพและฝั่งอัฐิไว้ ต่อมาพระนางเสด็จลงสรง ทรงเสี่ยงสัตยาธิฐานว่า

“ข้าน้อยจักนำพระศาสนาและราชประเพณีไป ประดิษฐานยังแว่นแคว้นลำพูนในครั้งนี้ หากเจริญรุ่งเรืองดังมโนรถอันมุ่งหมาย ขอเทพยดาจงดลบันดาลให้มีน้ำไหลหลั่งลงมาจากเงื้อมผานี้ให้ข้าน้อยได้สรง สรีระในกาลบัดนี้เถิด พอสิ้นคำอธิษฐาน ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์มีอุทกธาราโปรยปรายหลั่งไหลตกลงมาจากเงื้อมผานั้นให้ พระนางได้สรงสนานเป็นที่สำราญพระหฤทัย สถานที่นั้นจึงได้ปรากฏชื่อต่อมาว่า ผาอาบนาง ยังมีน้ำตกโปรยจากผาลงมาในลำน้ำจนถึงทุกวันนี้

* ตำบลหนึ่ง ปรากฏว่ามีผาตั้งขวางทางน้ำอยู่ ไม่เห็นช่องที่เรือจะผ่านไปได้ พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้คนไปสำรวจพบช่องทางน้ำเลี้ยวพันหน้าผานั้น อยู่อีกด้านหนึ่ง จึงเคลื่อนกระบวนเรือไปถึงบริเวณหน้าผา ณ ที่นั่น พระนางโปรดฯ ให้ช่างเขียนทำรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ สถานที่นั้นจึงมีนามปรากฏต่อมาว่า ผาแต้มบ้าง ผาม่านบ้าง เพราะเหตุว่ารูปทรงของหน้าผาเหมือนผ้าม่านขึงขวางลำน้ำไว้
* เมืองร้างแห่งหนึ่ง ที่นี่พระนางจามเทวีทรงให้หยุดกระบวนเรือพักแรม ปรากฏว่ามีเต่าจำนวนมากมายมารบกวนคน สถานที่นั้นจึงเรียกว่า ดอยเต่า
* ตำบลหนึ่ง มีชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นรมณียสถานอันพอพระทัยนัก พระนางโปรดฯ ให้พักแรมอยู่ ณ ที่นี้ และทรงสร้างพระสถูปขึ้นพระองค์หนึ่ง ประทานพระนามว่า วิปะสิทธิเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จได้มีพิธีฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก
* ท่าเชียงทอง มีชาวบ้านหญิงชายพากันออกมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก พระนางจึงทรงมีรับสั่งให้พระนางกำนัลผู้หนึ่งถามคนทั้งหลายนั้นว่า

“ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงเมืองลำพูน ยังประมาณมากน้อยเท่าไร” คนเหล่านั้นตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น ข้าทั้งหลายได้ยินมาว่าหนึ่งโยชน์แล”

ด้วยเหตุดังกล่าว สถานที่นี้จึงได้ชื่อต่อมาว่า เมืองฮอด และได้มีการหยุดประทับแรมกันเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าเชียงทองนั้นเอง พระนางจามเทวีทรงมีพระดำริว่าแม้จะใกล้ชานเมืองลำพูนแล้ว แต่ก็ควรจะหยุดพักกระบวนเรือและตั้งเวียงเล็กขึ้นบริเวณนอกเมืองเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปในเมือง จากนั้นทรงปรึกษากับข้าราชบริพารทั้งหลายเพื่อกำหนดสถานที่ตั้งค่ายประทับ แรม โหราจารย์ได้ถวายความเห็นให้ทรงเสี่ยงธนูดูตามประเพณีที่มีมาแต่ก่อน จึงโปรดฯ ให้กระทำดังนั้น ปรากฏว่านายขมังธนูน้าวคันศรส่งลูกธนูไปทางทิศเหนือด้วยกำลังแรง ลูกธนูไปตกอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม พระสงฆ์ทั้งหลายจึงเจริญพระพรว่าพระนางควรจะหยั่งรากพระศาสนาลง ณ ที่นั้นเป็นเบื้องแรก พระนางจึงโปรดฯ ให้ก่อพระอารามขึ้น พร้อมด้วยพระมหาเจดีย์ยังจุดที่ลูกธนูตก และยังโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์บรรจุพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ในพระอารามตามที่ บรรดาพระเถระทั้ง ๕๐๐ ได้ถวายพระพร พระมหาเจดีย์นั้นปัจจุบันอยู่ในวัดละโว้ ส่วนพระพุทธรูปนั้นต่อมาก็มีปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “พระยา” มาจนทุกวันนี้

นอกจากพระพุทธรูปซึ่งพระนางโปรดฯ ให้สร้างเท่าพระองค์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้นแล้ว บรรดาเสนามหาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ เป็นต้นว่าพระยาแขนเหล็ก และพระยาบ่เพกก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือตั้งแต่นั้น

จากนั้น พระนางจามเทวีจึงทรงสถาปนาเวียงเล็กขึ้น ประกอบด้วยพระราชนิเวศน์เรือนหลวงสำหรับเสด็จประทับรวมทั้งที่พักคณะผู้ ติดตามทั้งหมด พระนางและปวงเสนาประชาราษฏร์ที่ตามเสด็จต่างอาศัยอยู่ในเวียงเล็กนั้นด้วย ความสุขสบาย สถานที่ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า รมย์คาม และคนทั้งหลายเรียกกั้นสืบมาว่า บ้านระมัก จากนั้นท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะได้เดินทางล่วงหน้าต่อไปยังเมืองลำพูน เพื่อแจ้งข่าวการเสด็จมาถึง

ท่านสุเทวฤๅษีรวมทั้งไพร่บ้านพลเมือง ทั้งหลายพอทราบข่าวก็พากันตกแต่งพลับพลารับเสด็จไว้ทางทิศตะวันออก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จประทับตรัสพุทธพยากรณ์มาแต่ก่อน และสองข้างถนนที่จะเสด็จพระดำเนินด้วยราชวัตรฉัตรธงบุปผชาติต่างๆ จากนั้นท่านสุเทวฤๅษีจึงนำชาวเมืองเชิญเครื่องบูชาสักการะอย่างเต็มอัตราไป เฝ้าเตรียมรับเสด็จตั้งแต่ชานเมืองด้วยความปิติอย่างยิ่ง ไม่ช้ากระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีก็มาถึงโดยสถลมารค พระนางเมื่อทอดพระเนตรเห็นท่านสุเทวฤๅษีซึ่งเปรียบเสมือนบิดาก็ตื้นตัน พระทัยเสด็จออกจากราชยานมากราบ พระฤๅษีทั้งสองได้กราบบังคมทูลขอให้พระนางสละเพศนักพรตกลับเป็นกษัตริย์และ ขอให้ทรงเสวยราชย์ยังพระนครแห่งนี้ จากนั้นจึงแห่แหนพระนางไปยังพลับพลา ที่นั่นได้มีพระราชพิธีราชาภิเษก ท่านสุเทวฤๅษีกราบบังคมทูลเชิญพระนางเสด็จขึ้นประทับบนกองสุวรรณอาสน์เพื่อ ทรงสรงน้ำพระมูรธาภิเษกทและวันที่เสด็จขึ้นเสวยสิริราชสมบัตินั้นตรงกับวัน ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๐๒ พระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ปรากฏพระนามเมื่อทรงรับการราชาภิเษกในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ๗ วัน พระครรภ์ได้ครบทศมาส พระนางจามเทวีจึงทรงมีประสูติกาลพระโอรส ๒ พระองค์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ราชกุมารทั้งคู่ทรงศิริลักษณ์งามละม้ายกัน เป็นที่ปิติยินดีไปทั้งพระนคร พระนางได้พระราชทานนามพระเชษฐาว่า พระมหันตยศ และพระอนุชาว่า พระอนันตยศ

ทำนาย ทายใจ ดูดวง ทายนิสัย จาก เครื่องดื่ม


ที่ชอบ ไม่ว่าคุณจะเป็น หนุ่มหล่อ สาวสวย ขาว สวย หมวย อึ๋ม ลองมาดูกันซิว่า เครื่องดื่ม ที่ชอบดื่มนั้น ทำนาย ความเป็นตัวคุณได้ขนาดไหน

ชอบดื่มน้ำหวาน
เป็น คนรักสงบ ชอบทำงานประเภทที่มีความมั่นคงปลอดภัย มีความมานะพยายามสูง ค่อนข้างจะยึดมั่นในสิ่งที่ตนคิดเอามากๆ ไม่ใช่คนที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้โดยง่าย ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีความสุขอยู่เสมอ และมีความหวังในชีวิตอยู่ตลอดเวลา

ชอบดื่มน้ำอัดลม
มัก เป็นคนที่ชอบทำอะไรตามใจตัวเองเอามากๆ ไม่มีใครสามารถบังคับให้อยู่ในกฎเกณฑ์ได้ และเป็นคนที่ชอบศึกษา หาความรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากนี้ยังเป็นคนรักการเดินทางมาก ชอบการผจญภัยตลอดเวลา

ชอบดื่มกาแฟ
เป็น คนที่มีความคาดหวังในชีวิตสูงมาก เมื่อตั้งความหวังอะไรไว้ ก็จะพยายามไปให้ถึงสิ่งที่หวังนั้นให้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่ยึดถือในเหตุผล และหลักการ ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นคนจริงจังและตรงไปตรงมามาก ชอบคิดอะไรง่ายๆ แต่ไม่ค่อยมีรายละเอียดในชีวิตนัก

ชอบดื่มน้ำชา
มัก เป็นคนที่มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิตมาก คนที่อยู่ใกล้ชิดมักรู้สึกอบอุ่น และผ่อนคลายทั้งยังสามารถเข้าได้กับคนทุกกลุ่ม และมีเสน่ห์ต่อทุกคน

ชอบดื่มไวน์
มี รายละเอียดและกฎเกณฑ์ในชีวิตเสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่รู้จักกาลเทศะ และสามารถเข้าสังคมได้ดี และค่อนค้างจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยม มักมีปัญหากับคนที่ชอบทำตัวอิสระเกินขอบเขต

ชอบดื่มเหล้า
แน่ นอนว่ามักจะเป็นคนที่รักความสนุกสนาน ชอบแสวงหาความบันเทิง และมักจะสนใจในเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ เท่านั้น แต่กับเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวกลับกลายเป็นคนไร้ความรับผิดชอบได้อย่างน่าแปลกใจ

ชอบดื่มเบียร์
ส่วน คนที่ชอบดื่มเบียร์มากที่สุดในบรรดาเครื่องดื่มทั้งหลายนั้น มักเป็นคนที่มีชีวิตชีวา และมีจิตใจที่ฮึกเหิมกล้าหาญมาก และรักการผจญภัยเป็นที่สุด ทั้งยังเป็นคนใจร้อนใจเร็วเสียทุกเรื่อง มีความเป็นอิสระสูงและชอบการแสดงออก

ดื่มได้ทุกอย่าง
เป็น คนที่มีจิตใจอ่อนโยน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย รับรู้และเข้าอกเข้าใจ ในความทุกข์ความเศร้าของคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง แต่จะเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว มักจะสับสนกับความต้องการของตัวเองอยู่เสมอ

ที่มา http://horo.kapook.com/hilight_5.php

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จุฬาฯสร้างชุดตรวจไข้หวัดฯ 2009 จ่าย 350 บาท ชั่วโมงเดียวรู้ผล

อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการสร้างชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 สำเร็จ

นักวิชาการรายนี้คือ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการทรานสเจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำเร็จในการสร้างชุดตรวจเชื้อมาจากการต่อยอดความรู้จากห้องปฏิบัติการ ที่ทำงานในเรื่องของไบโอเซ็นเซอร์ ซึ่งเน้นการตรวจวิเคราะห์บนพื้นฐานของ DNA และ RNA เดิมเริ่มจากการตรวจวิเคราะห์โมเลกุลปนเปื้อนในอาหารมาก่อน

การตรวจวิเคราะห์จะอาศัยหลักการ 3 ขั้น ได้แก่ 1.การสกัด DNA หรือ RNA 2.การเพิ่มสัญญาณ DNA หรือ RNA เป้าหมายซึ่งมีปริมาณน้อยมากให้มีปริมาณมากพอที่จะตรวจสอบได้ และขั้นตอนสุดท้าย คือการแปลงสัญญาณเหล่านั้นให้แสดงผลในรูปแบบกายภาพ ซึ่งตรวจวัดได้ทางฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการมีความเชี่ยวชาญ 3 ด้านดังกล่าว

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ประสบการณ์ในการตรวจการปนของดีเอ็นเอของโค กระบือ และสุกร ในอาหาร และที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการพัฒนาการตรวจไข้หวัดนก ร่วมกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มาก่อน เมื่อมีเรื่องหวัด 2009 H1 N1 flu และมีข้อมูลลำดับนิวคลิโอไทด์ จึงสังเคราะห์ทุกอย่างในห้องปฏิบัติการทันที โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวอย่างไวรัสอันตราย เพราะปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ DNA ทางเคมีได้ จนถึงการพัฒนาชุด KIT ของคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหลักการตรวจวิเคราะห์ด้วยเซ็นเซอร์ มีจุดประสงค์หลักๆ คือ ต้องการให้การตรวจวิเคราะห์ทำได้นอกห้องปฏิบัติการ ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้เครื่องมือที่ง่ายในการตรวจ ทำให้การตรวจทำได้ในทุกพื้นที่ที่ต้องการได้ในทันที ตอบสนองหลักการ Point of Care ในส่วนของอุปกรณ์ในการตรวจเชื้อ ประกอบด้วย น้ำยาสำเร็จรูปที่ใส่หลอดไว้ล่วงหน้า พร้อมสำหรับหยดตัวอย่างไวรัสลงไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 1-2 นาที จากนั้นบ่มปฏิกิริยาที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส ประมาณ 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นตรวจผลจากการเรืองแสง สามารถใช้เครื่องตรวจธนบัตรปลอมที่มีราคาถูกและสะดวกในการพกพา สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ ทั้งนี้ หากผลออกมาเรืองแสง แสดงว่าตัวอย่างติดเชื้อหวัด 2009

จากขั้นตอนทั้งหมดนี้หากคิดค่าใช้จ่ายจากการตรวจ รวมประมาณ 350 บาท แยกเป็นค่าตรวจตัวอย่างด้วย Kit สำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ใช้เงินประมาณ 150 บาท และค่าใช้จ่ายในการสกัด RNA ประมาณ 200 บาท อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีการสกัด RNA อย่างง่ายก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อีก

โดยหลักการทางทฤษฎีการตรวจด้วยชุดสำเร็จนี้ ให้ความเฉพาะเจาะจงและแม่นยำกว่าเทคนิค PCR ที่นิยมใช้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป และต้องใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิพิเศษที่มีราคาแพง และต้องพึ่งห้องปฏิบัติการและบุคลากรเฉพาะทาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก.

เมนูสู้หวัดมีแกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ ยำปลาทู


เมนูสู้หวัดมีแกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ ยำปลาทู


กรมแพทย์แผนไทยแนะ สู้หวัดมีแกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ ยำปลาทู (คมชัดลึก)

นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สมุนไพรที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคไข้หวัดมี หลายชนิด ได้แก่ กระเทียม หอมแดง หอมใหญ่ ขิง ข่า ตระไคร้และกะเพรา ฯลฯ โดยเมนูที่แนะนำให้รับประทานช่วงนี้ มี แกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ ยำปลาทู เพราะมีสมุนไพร ขิง หัวหอมมาก นอกจากนี้ยังมีน้ำพริกกินกับผักต่างๆ อาทิ คาวตองผักพื้นบ้านของภาคเหนือและอีสาน รวมถึงผลไม้ทุกชนิด โดยเฉพาะชนิดที่มีรสเปรี้ยว ส้ม มะขามป้อม และฝรั่ง

"การดื่มน้ำสมุนไพร ทั้งน้ำฝรั่ง น้ำขิง น้ำมะขาม น้ำตระไคร้ ชาเห็ดหลินจือ เบญจขันธ์ ฯลฯ ซึ่งบางรายป่วยดื่มน้ำขิงแก่ โดยนำขิงแก่ไปต้มกับน้ำดื่มประมาณ 1-2 วันก็หาย ไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือหากมีไข้ในช่วง 1-2 วันแรกให้กินสมุนไพรดูแลอาการก่อนไปโรงพยาบาล อาทิ ฟ้าทะลายโจร จันทลีลาแก้ปวดเมื่อย ยาเขียวหอม หากไอ ยาอมมะขามป้อม มะแว้ง"นพ.นรา กล่าว

ดร.ภญ. สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการช่วยสร้างภูมิต้านทานในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ที่แนะนำ 3 ชนิดคือ

1.ฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ในการรักษาและสร้างภูมิต้านทานของร่างกายในการป้องกันโรค

2.ขิง มีฤทธิ์อุ่นสอดคล้องกับการรักษาโรคหวัด ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย

3.กระเทียม หรือกระเทียมดอง ถ้าไม่อยากเป็นหวัดให้กินทุกวันประสิทธิภาพเหมือนกับวัคซีนป้องกันโรค ส่วนกระเจี๊ยบ ขมิ้นอ้อย มะระ และฟักข้าว ที่มีฤทธิ์เหมือนยาโอเซลทามิเวียร์

ด้าน ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ รองผู้อำนวยสถาบันการแพทย์ไทย กล่าวว่า การรับประทานฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาโรคหวัดควร รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน ครั้งละไม่เกิน 1.5 กรัม วันละไม่เกิน 6 กรัม ถ้าแคปซูลที่มีปริมาณ 500 มิลลิกรัม ก็รับประทานครั้งละไม่เกิน 3 แคปซูล หากเป็นขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) บรรจุ 375 มิลลิกรัม ต้องรับประทานครั้งละ 5 แคปซูล การรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีผลข้างเคียง คือ มือเท้าชา อ่อนแรง บ้าง

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หญิง ธิติกานต์ - ยอมจำนนฟ้าดิน


หญิง ธิติกานต์ - ยอมจำนนฟ้าดิน ♪

อยากต่อว่าฟ้าดินที่ให้เราพบเจอ แต่ไม่ยอมจับเราคู่กัน
ฟ้าดินจงใจแกล้งเรา เธอว่าหรือเปล่า
ทำไมนะต้องห้ามรักกัน ความเหมาะสมนะหรือที่ยืนยาว
ถึงในใจมันค้านสุดท้ายต้องยอมจำนน

*ก่อนถนนของเราแยกกัน ก่อนความฝันของเราสิ้นลง
แค่อยากพบกับเธอสักหน สบตาอีกครั้ง

**แค่ให้ฉันได้บอกเธอสักคำ พูดในวันที่จำต้องจาก
อยากให้รู้ว่ารักเธอมาก และจะรักรักตลอดไป
เกิดชาตินี้แค่ได้พบเจอ เกิดชาติหน้าค่อยฝันกันใหม่
วันนี้ใจสลาย ยอมจำนนให้ฟ้าดินแยกเราไกลกัน

พอใจแล้วใช่ไหมฟ้าดิน ที่ได้เห็นว่าคนต้อยต่ำ
มันต้องเจ็บต้องช้ำต้องน้ำตาตก
โลกใบนี้มีคนมากมาย ทำไมต้องเป็นเราสองคน
ยอมจำนนให้แล้วหวังว่าคงพอใจ

(*,**) (**)

คนรักกันใยฟ้าดินถึงไม่เข้าใจ

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง

ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง
Thursday, 29 January 2009 09:20
ชีวิตที่ประสบความสำเร็จเริ่มต้นด้วยการใฝ่ฝันท่านเห็นด้วยหรือไม่ มนุษย์เรานั้นฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะสามารถบินล่องลอยเหินบนท้องฟ้าอันกว้างไกลได้อย่างนก จึงทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อันมหัศจรรย์และมีพลานุภาพ โดยจุดกำเนิดจากสองพี่น้องตระกูลไรน์ที่คิดประดิษฐ์เครื่องร่อนจนกลายมาเป็นเครื่องบินหรือจรวดที่บินได้สูงและเร็วยิ่งกว่านกในปัจจุบัน มนุษย์เราฝันว่า สักวันหนึ่งเราจะสามารถติดต่อสื่อสาร ส่งข่าวพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน จุดกำเนิดจากทอมมัส อัลวา เอดิสัน เป็นผู้จุดประกายแห่งความฝันจนกลายเป็นความจริงในที่สุด จนทำให้ปัจจุบันนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีในการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, วิทยุ, ดาวเทียม, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ไร้สาย ฯลฯ มนุษย์ฝันว่าสักวันจะบินไปเยี่ยมดาวเคราะห์ และดวงดาวต่างๆ อันลึกลับและอยู่ไกลลิบจากขอบฟ้า แล้วความจริงก็ได้ปรากฏขึ้นว่ามนุษย์เราสามารถบินไปเหยียบดวงจันทร์ได้โดย นีล อาร์มสตรอง เมื่อปี พ.ศ.2511 และได้ทำการสำรวจดวงดาวต่างๆ ในจักรวาลต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงตรงนี้คงจะให้คำตอบแก่เราๆ ท่านๆ ได้ใช่ไหมว่า “สิ่งใดมนุษย์คิดและฝัน.....สิ่งนั้นเป็นไปได้” “สิ่งใดที่จิตคิดและเชื่อมั่น สิ่งนั้นบังเกิดได้” ท่านเคยคิด ท่านกล้าคิดกับเขาบ้างหรือไม่ เราลองมาคิดและฝันในสิ่งที่ไม่เกินสติปัญญาและสามัญสำนึกของเราดูบ้าง ท่านเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่ไม่กล้าคิดหรือไม่เคยคิดกับความฝันต่าง ๆ ที่ไม่ต้องใช้อัจฉริยะในตัวท่านเลยเช่น ฝันว่าจะมีบ้านหลังงาม ๆ สักหลัง ฝันว่าจะมีรถยนต์ราคาแพงสักคัน ฝันว่าจะได้เดินทางท่องเที่ยวรอบโลก ฝันว่าท่านจะมีความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ ฝันว่าท่านจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงก้องฟ้าก้องแผ่นดิน ......ฯลฯ...... ถ้าท่านไม่เคยใผ่ฝัน ลองคิด และฝันดูสิครับเริ่มจากฝันสิ่งเล็กๆ ดูก่อนก็ได้ เช่น ฝันว่าจะมีเงินฝากในสมุดบัญชีด้วยตัวเลข 6 หลักขึ้นไป ฝันว่าได้พักอาศัยในที่ซึ่งพร้อมไปด้วยความสุขสมบูรณ์ ......ฯลฯ...... ความสำเร็จ ความมั่งคั่ง และความสุข ล้วนแล้วแต่ได้มาด้วยความฝันและการกระทำที่ละขั้นเสมอ ไม่มีอะไร ทีได้มาในทันทีทันใด ซึ่งท่านจะได้เห็นตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้ -ความฝันที่จะให้ลูกได้เรียนมหาวิทยาลัยจะสำเร็จได้ หากท่านลงทุนอย่างฉลาด ด้วยการสะสมเงินโดยธนาคารเดือนละ 500 – 900 บาท -นักแสดงผู้ที่ตั้งใจแสดงทีละฉากในแต่ละครั้งจะกลายเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ -ผู้บริหารได้ตำแหน่งสูงสุดในบริษัทด้วยการเลื่อนขั้นที่ละขั้นไม่ใช่กระโดดพรวดเดียวถึงยอดเลย -ทีมฟุตบอลอาจเป็นแชมป์เปี้ยนโลกได้ หากเอาชนะการแขง่ขนั นดั สำคัญได้ทกุครั้ง -ไมเคิล แจ็คสัน นักร้องชื่อก้องโลกจากสหรัฐอเมริกาเกิดในครอบครัวที่ยากจน เพราะมีพี่น้องมาก และแม่ของเขาไม่สามารถเลยงี้ตัวเองและครอบครวั ได ้เขาเริ่มต้นการเป็นนักร้องเมื่ออายุ 6 ขวบ ตัวอย่างข้างต้นเป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่า “การเดินทางที่ยาวไกลที่สุด เริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ ก้าวเดียว” ทรัพย์สมบัติ มหาศาลเริ่มต้น ด้วยเงินไม่กี่บาท ชีวิตที่มีความสุขนั้นสร้างขึ้นทีละวัน จงฝันเถอะครับ เพื่อให้ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง ขอเสนอแนะหลักการเพื่อให้ท่านปฏิบัติดังนี้ 1.จงสร้างภาพฝันถึงสิ่งที่ท่านปรารถนาทรงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านอาจเป็นไปได้ อาจทำได้สำเร็จ และอาจเป็นเจ้าของได้ 2.คิดว่าฝันของเรานั้นเป็นการปลูกต้นไม้ มันจะโตวันโตคืน จงทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีเลิศ 3.เตรียมจิตใจให้พร้อมและยอมรับ ความคิด และจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ของท่าน 4.อย่ารอคอยให้ทุกอย่างพร้อม อย่ารอคอยโชคลาภโชคลาภที่แท้คือความคิดที่ได้รับการปฏิบัติตามเท่านั้น 5.สร้างจินตนาการให้เกิดขึ้นเป็นภาพ เป็นความคิดเป็นความรู้สึกให้กำลังใจ และความรู้ โดยการขอความร่วมมือจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ 6.บอกกับตัวเองว่า เราคือ “ผู้ชนะ” เราจะ “มุ่งมั่น” จนกว่าจะ “สำเร็จ” 7.จงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ใช้เวลาในการสร้างสรรค์อาชีพการงาน และใช้เวลาในการมั่งคั่งและมั่นคงอย่างเพียงพอ บางคนอาจเชื่อว่าชีวิตของตนนั้นจะต้องดำเนินเดินไปตามพรหมลิขิตหรือฟ้าบันดาลเท่านั้น ที่จะกำหนดความยากดีมีจนของตน ถ้าหากท่านคือบุคคลประเภทนี้ อาจจะทำให้ท่านไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ท่านทราบถึงหลักการและหยิบหนังสือเล่มนี้แล้ว จงเชื่อเถอะครับว่า เราคือผู้กำหนดโชคชะตาของเราเอง ท่านต่างหากคือผู้ลิขิตชีวิตตนเอง

ท่านคือบุคคลพิเศษ




ท่านคือบุคคลพิเศษ
Written by Administrator
Friday, 17 April 2009 09:12
จงบอกกับตัวเองเสมอว่า ท่านคือบุคคลพิเศษสุด ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนท่านจงบอกกับตัวเองเสมอว่า ท่านเป็นผู้มีพละกำลังมีพลังที่ยิ่งใหญ่ และมีความทรหดอดทนสูงกว่าหรือเหนือกว่าบุคคลอีกหลายชีวิต.... จงบอกกับตัวเองเสมอว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติที่พิเศษกว่าบุคคลอีกหลายๆ คน ท่านกล้าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่กล้าทำ ท่านกล้าที่จะคิดและลงมือทำในขณะที่คนอื่นมองดูท่าน ท่านกล้าตรวจสอบผลงานและวิเคราะห์ในสิ่งที่ท่านได้กระทำลงไปเสมอ ท่านกล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ แม้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ท่านเปรียบเสมือนลูกเต่าในทะเล หรือลูกนกนางนวลที่รอดตายและมีชีวิตอยู่เจริญเติบโตและสามารถเจริญเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 100 หรือ 1 ใน 1,000 ที่รอดตายและมีชีวิตอยู่นับจากไข่ที่ถูกฟักออกมาเป็นตัว จนกระทั่งรอดตายและมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะต้องผจญภัยกับชะตากรรมอุปสรรคนานัปการ รวมทั้งภัยจากธรรมชาติด้วย ในฤดูที่วางไข่ เต่าทะเลจะว่ายสู่แผ่นดินหรือเกาะที่มันคิดว่าสงบปราศจากสิ่งรบกวนและปลอดภัยต่อไข่เต่าที่ขุดฝังไว้ริมหาดทราย แม่เต่าจะว่ายน้ำสู่ฝั่งที่มีระยะทางหลายสิบไมล์เพื่อฝากไข่ไว้ที่ริมหาดทรายที่มันคิดว่าปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกเต่าเมื่อมันได้ฝังไข่ไว้แล้วมันก็กลับสู่ท้องทะเลหายไปโดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติที่จะสร้างหรือทำลายลูกเต่า ซึ่งสุดแล้วแต่ชะตากรรมของไข่เต่าแต่ละฟอง กว่าลูกเต่าจะลืมตามองดูโลก ว่ายน้ำลงสู่ทะเล และพร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองให้อยู่รอดและปลอดภัยนั้นมีเพียงไม่กี่ชีวิตที่เหลืออยู่ เมื่อเทียบกับไข่เต่าที่ถูกฝังอยู่ริมหาด เพราะ ไข่เต่าถูกขุดคุ้ยมาเป็นอาหารสุนัข หนู หรือมนุษย์บนแผ่นดินก่อนที่จะถูกฟักออกมาเป็นตัว เมื่อเปลือกไข่แตกออกและเป็นตัวพร้อมที่จะเติบโตก็ตกเป็นอาหารของนกอินทรีหรือแร้งที่บินวนเวียนอยู่บนอากาศ เนื่องจากเต่ายังเป็นตัวอ่อนไม่แข็งแรง หรือถ้าเป็นเวลากลางวันระดับน้ำทะเลจะลดลง ทำให้ระยะทางที่ลูกเต่าจะว่ายไปถึงทะเลก็ไกลมากขึ้น ลูกเต่าอาจถูกแดดเผาจากเปลวแดดและทรายที่ร้อนระอุ จะมีเพียงไม่กี่ชีวิตที่ถูกฟักออกมาเป็นตัวในเวลาเช้า, คล้อยบ่าย หรือในเวลาค่ำเท่านั้นที่จะมีโอกาสรอดตาย คลานลงสู่ทะเล และมีชีวิตรอดปลอดภัย นกนางนวลก็มีสภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างไปจากลูกเต่าในทะเลที่รอดตายและมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกันครับ ท่านคือบุคคลที่พิเศษ เช่นเดียวกับเต่าทะเลหรือนกนางนวลที่รอดตายและมีชีวิตอยู่ จงบอกกับตัวเองเสมอว่าท่านแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ท่านมั่นคงและมีเป้าหมายในงานและชีวิตที่แน่นอน ท่านมีเข็มทิศของชีวิตในการดำรงชีวิต ท่านพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหา และพร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตนเองเสมอ ท่านคือบุคคลที่มหัศจรรย์ ท่านคือบุคคลที่สำคัญที่หลายคนรอคอยให้ท่านช่วยเหลือหรือพึ่งพาท่านอยู่ ท่านเกิดมาเพื่อจะสร้างไม่ใช่เกิดมาเพื่อทำลาย