วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จุฬาฯสร้างชุดตรวจไข้หวัดฯ 2009 จ่าย 350 บาท ชั่วโมงเดียวรู้ผล

อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการสร้างชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 สำเร็จ

นักวิชาการรายนี้คือ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการทรานสเจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำเร็จในการสร้างชุดตรวจเชื้อมาจากการต่อยอดความรู้จากห้องปฏิบัติการ ที่ทำงานในเรื่องของไบโอเซ็นเซอร์ ซึ่งเน้นการตรวจวิเคราะห์บนพื้นฐานของ DNA และ RNA เดิมเริ่มจากการตรวจวิเคราะห์โมเลกุลปนเปื้อนในอาหารมาก่อน

การตรวจวิเคราะห์จะอาศัยหลักการ 3 ขั้น ได้แก่ 1.การสกัด DNA หรือ RNA 2.การเพิ่มสัญญาณ DNA หรือ RNA เป้าหมายซึ่งมีปริมาณน้อยมากให้มีปริมาณมากพอที่จะตรวจสอบได้ และขั้นตอนสุดท้าย คือการแปลงสัญญาณเหล่านั้นให้แสดงผลในรูปแบบกายภาพ ซึ่งตรวจวัดได้ทางฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการมีความเชี่ยวชาญ 3 ด้านดังกล่าว

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ประสบการณ์ในการตรวจการปนของดีเอ็นเอของโค กระบือ และสุกร ในอาหาร และที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการพัฒนาการตรวจไข้หวัดนก ร่วมกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มาก่อน เมื่อมีเรื่องหวัด 2009 H1 N1 flu และมีข้อมูลลำดับนิวคลิโอไทด์ จึงสังเคราะห์ทุกอย่างในห้องปฏิบัติการทันที โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวอย่างไวรัสอันตราย เพราะปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ DNA ทางเคมีได้ จนถึงการพัฒนาชุด KIT ของคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหลักการตรวจวิเคราะห์ด้วยเซ็นเซอร์ มีจุดประสงค์หลักๆ คือ ต้องการให้การตรวจวิเคราะห์ทำได้นอกห้องปฏิบัติการ ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้เครื่องมือที่ง่ายในการตรวจ ทำให้การตรวจทำได้ในทุกพื้นที่ที่ต้องการได้ในทันที ตอบสนองหลักการ Point of Care ในส่วนของอุปกรณ์ในการตรวจเชื้อ ประกอบด้วย น้ำยาสำเร็จรูปที่ใส่หลอดไว้ล่วงหน้า พร้อมสำหรับหยดตัวอย่างไวรัสลงไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 1-2 นาที จากนั้นบ่มปฏิกิริยาที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส ประมาณ 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นตรวจผลจากการเรืองแสง สามารถใช้เครื่องตรวจธนบัตรปลอมที่มีราคาถูกและสะดวกในการพกพา สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ ทั้งนี้ หากผลออกมาเรืองแสง แสดงว่าตัวอย่างติดเชื้อหวัด 2009

จากขั้นตอนทั้งหมดนี้หากคิดค่าใช้จ่ายจากการตรวจ รวมประมาณ 350 บาท แยกเป็นค่าตรวจตัวอย่างด้วย Kit สำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ใช้เงินประมาณ 150 บาท และค่าใช้จ่ายในการสกัด RNA ประมาณ 200 บาท อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีการสกัด RNA อย่างง่ายก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อีก

โดยหลักการทางทฤษฎีการตรวจด้วยชุดสำเร็จนี้ ให้ความเฉพาะเจาะจงและแม่นยำกว่าเทคนิค PCR ที่นิยมใช้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป และต้องใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิพิเศษที่มีราคาแพง และต้องพึ่งห้องปฏิบัติการและบุคลากรเฉพาะทาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก.

ไม่มีความคิดเห็น: