วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นครหริภุญไชยในปฐมรัชกาล


พระนางจามเทวี ทรงสถาปนาความรุ่งเรืองแก่นครหริภุญไชยของพระนางมากขึ้นไปอีก จนเป็นนครในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายใฝ่ฝันอย่างแท้จริง โดยตำนานนั้นกล่าวว่าอาณาประชาราษฎร์เป็นสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติโดยถ้วน หน้า เฉพาะบ้านใหญ่นั้นมีจำนวนถึง ๔๐๐๐ บ้าน บ้านน้อยอีกเป็นอันมาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ และพสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒๐๐๐ แห่ง สำหรับถวายพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกมาจากละโว้ ๕๐๐ รูป แยกย้ายผลัดเปลี่ยนกันสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนา วัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นต่อมาก็มีภิกษุจำพรรษาเต็มพระอารามทุกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น พระนางยังโปรดฯ ให้เฟ้นหาบัณฑิตที่ชำนาญการสวดพระธรรมอีก ๕๐๐ คนสำหรับช่วยสวดพระธรรมในวัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นด้วย

บรรดาผู้คนซึ่งตามเสด็จพระนางจามเทวีมา แต่กรุงละโว้นั้น พระนางก็โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กันทางทิศตะวันออกของพระนคร ชาวมิคสังครเดิมอยู่ทิศตะวันตก พวกที่รอดตายมาจากรมยนครอยู่ทิศใต้ และตระกูลที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์นั้นก็อยู่ภายในเมือง

ต่อมาพระนางมีพระดำริว่า เวลานี้พระโอรสทั้ง ๒ ก็ยังเยาว์พระชันษาอยู่ ถ้ามีข้าศึกมาเบียดเบียนจะเป็นการลำบาก จึงโปรดฯ ให้มีพระราชพิธีพลีกรรมสังเวยเทพยดาผู้รักษาพระนคร ขอประทานช้างมงคลตัวประเสริฐสำหรับใช้ในการสงคราม เทวะทั้งหลายจึงดลใจช้างเชือกหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคชลักษณ์อันบริบูรณ์ทุกประการ คือมีกายขาวประดุจเงินเลียง และงาสีเขียว พลัดออกจากโขลงที่ใกล้ตีนดอยอ่างสรงแล้วมุ่งลงใต้มายังนครหริภุญไชย เวลานั้นก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีฝนตกตลอด ๗ วัน ๗ คืน เมื่อมาถึงพระนคร พระนางจามเทวีทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงมีพระราชโองการให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจัดเครื่องบูชาข้าวตอกดอกไม้และ ดุริยดนตรีแห่ไปรับมายังโรงช้างทางทิศตะวันออก ประดับด้วยแก้วแหวนเงินทองอันงดงามเลอค่า จากนั้นทรงสถาปนาเป็นพระคชาธารคู่พระบารมี และโปรดฯ ให้มีมหรสพสมโภชในเมืองถึง ๓ วัน ๓ คืน

ช้างนี้ คนรุ่นหลังต่างพากันเรียกว่า ช้างภู่ก่ำงาเขียว กล่าวกันว่ามีอานุภาพยิ่ง คือเวลาใกล้เที่ยงหากใครไปยืนเบื้องหน้าช้างก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่างๆ ถ้าไม่บวงสรวงด้วยข้าวตอกดอกไม้เสียแล้วก็อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว

ในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า พระนางจามเทวีไม่เพียงแต่ทรงเอาพระทัยใส่ในการศาสนา จนเมืองหริภุญไชยเป็นประดุจพุทธนครเท่านั้น ในด้านยุทธศาสตร์การป้องกันพระนครพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างด่านไว้ที่ชายแดนที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยว ปัจจุบันก็คือบริเวณหมู่บ้านกอกและทุ่งสามเสี้ยว เขต อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ก็โปรดฯ ให้จัดการซ้อมรบเพื่อทดสอบความพลั่งพร้อมของกำลังพล โดยทรงออกอุบายให้ด่านที่เวียงนอกและเวียงสามเสี้ยวแกล้งตั้งตัวเป็นกบฏและ ทรงมีรับสั่งให้จัดทัพไปปราบปรากฏว่าฝ่ายพระนครชนะศึก แต่แม้ว่าจะเป็นการซ้อมรบแต่ต่างฝ่ายก็ไม่รู้กันเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสีย ชีวิตมากมาย พระนางจึงทรงอุปถัมภ์เลี้ยงดูครอบครัวของทหารที่ตายในการสู้รบครั้งนี้ให้ เป็นสุขต่อไป ผู้ที่รอดชีวิตก็พระราชทานบำเหน็จความดีความชอบตามควรแก่ฐานะ

พระนางจามเทวี ได้ทรงปกครองเมืองหริภุญไชยต่อมาด้วยทศพิธราชธรรมแท้จริง พระนางทรงสั่งสอนบรรดาเสนาข้าราชสำนัก ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมเสมอ นครหริภุญไชยจึงเป็นที่สงบสุขน่าปิติยินดีราวกับเมืองสวรรค์ในโลกมนุษย์

สงครามขุนวิลังคะ

ด้วยพระนางจามเทวีทรงเป็นจอมกษัตริย์ ผู้ทรงปกครองนครหริภุญไชยที่รุ่งเรือง ทั้งพระนางเองก็ทรงมีพระรูปเลอโฉม พระปรีชาญาณหลักแหลม เป็นที่สรรเสริญแก่บรรดาประเทศใหญ่น้อยทั่วไป บรรดาเจ้าครองนครหลายองค์จึงใคร่จะได้พระนางไปเป็นพระมเหสี แต่ผู้ที่แสดงความปรารถนานั้นก่อนคนอื่นก็คือ ขุนวิลังคะ ผู้นำชาวลัวะ ซึ่งส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ สาแหรก มาถวายสาส์นทูลเชิญพระนางเสด็จไปเป็นพระมเหสีแห่งระมิงค์นคร ซึ่งบางตำนานว่าตกในราวๆ ต้นปี พ.ศ. ๑๒๒๖ เมื่อพระนางทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทูตลัวะก็กราบบังคมทูลอย่างวางอำนาจว่า

“ข้าแต่มหาราชเทวี เป็นเจ้า ขุนแห่งข้าพเจ้ามีนามว่าวิลังคราชอยู่ทิศดอยละวะโพ้น เป็นใหญ่กว่าลัวะทั้งหลาย ใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระนางบัดนี้ โดยเหตุที่ขุนวิลังคราชมีความรักใคร่ในพระเทวีเป็นเจ้า จักเชิญพระแม่เจ้าไปเป็นอัครมเหสี”

พระนางจามเทวีทรงพิโรธมาก เพราะการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นพระเดชานุภาพ และเป็นการแสดงอำนาจคุกคามพระนางอย่างแท้จริง แต่ยังทรงตรัสถามอย่างพระทัยเย็นว่า “ดูกรท่านอำมาตย์ เรายังไม่เคยได้เห็นขุนผู้นั้นแม้สักหนเดียวเลย ขุนผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า”

ทูตลัวะทูลตอบว่า “ขุนแห่งข้าพเจ้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตัวข้าพเจ้านี้แหละ”

พระนางจึงทรงมีรับสั่งว่า “ผิว่า ขุนแห่งท่านมีหน้าตาเหมือนดังท่านแล้ว อย่าว่าแต่มาเป็นผัวเราเลย แม้แต่มือเราก็ไม่จักให้ถูกต้อง ท่านจงรีบไปเสียให้พ้นจากเรือนเราเดี๋ยวนี้”

แล้วทรงขับไล่ทูตลัวะออกไปเสียจากพระนคร ทูตลัวะผู้นำรีบนำผู้คนกลับไปเมืองระมิงค์ ด้วยความวิตกว่าตนรับเชิญสาส์นเจ้าเหนือหัวมาครั้งนี้หวังว่าจะได้รับความดี ความชอบ แต่ต้องกลับกลายเป็นผู้นำข่าวร้ายไปสู่เจ้านครลัวะแทนเสียแล้ว ขุนวิลังคะได้ทราบเช่นนั้นก็บังเกิดความโกรธอย่างรุนแรงสั่งเตรียมยกทัพบุก เข้าทำลายนครหริภุญไชยให้พินาศทันที เพราะถึงเมืองของพระนางจามเทวีจะเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงด้วยปราการหอรบ ต่างๆ พร้อมสรรพเพียงใดก็ยังเป็นเมืองเล็กอยู่ แต่เมื่อความโกรธผ่อนคลายลงบ้างและเพราะเห็นว่าเป็นเมืองพระพุทธศาสนา จะเข้าตีเสียเลยก็ไม่เหมาะสม จึงส่งสาส์นเกลี้ยกล่อมอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า พระนางยังไม่ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังระมิงค์นครเพราะพระนางเพิ่งมีพระประสูติ กาลพระโอรส พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์พอจะทรงรับการอภิเษกเป็นพระมเหสีแห่งชาวลัวะได้ ขอให้รอไปก่อน ขณะเดียวกันภายในเมืองหริภุญไชยพระนางจามเทวีก็โปรดฯ ให้สั่งสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมกำลังทหารให้พร้อมรบที่สุด ทางฝ่ายขุนวิลังคะได้รับคำตอบเช่นนั้นก็เบาใจและรั้งรออยู่อย่างนั้น บางตำนานว่าหลงกลรอต่อไปเป็นเวลานานถึง ๗ ปีทีเดียว

ในที่สุดขุนวิลังคะก็ตาสว่างว่าตนเสีย รู้ จึงนำทัพเข้าล้อมเมืองด้วยทหารจำนวนถึง ๘๐๐๐๐ คน พระนางจามเทวีก็ทรงมีพระราชโองการให้พระโอรสทั้งสองซึ่งเจริญพระชมมายุได้ ๗ พรรษาแล้วขึ้นประทับเหนือช้างภู่ก่ำงาเขียวนำทัพออกศึก โดยพระมหันตยศประทับคอช้าง พระอนันตยศประทับกลางช้าง กองทัพของหริภุญไชยมีจำนวนเพียง ๓๐๐๐ คน แต่เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน พลรบชาวลัวะก็ให้บังเกิดอาการหน้ามืดตามัวหมดกำลัง เพราะเผชิญหน้ากับช้างภู่ก่ำงาเขียวในเวลาเที่ยงวันพอดี จนในที่สุดไม่มีผู้ใดทนได้ก็พากันแตกทัพอลหม่านโดยไม่ทันได้สู้รบทิ้งอาวุธ และสิ่งของไว้เป็นอันมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้ชาวพระนครพรากับออกไปรวบรวมสิ่งของเหล่า นั้นไปเป็นของตนเองเสีย ทำเลที่ทหารลัวะทิ้งของไว้นั้นจึงมีชื่อว่า ลัวะวาง ในกาลต่อมา

หลังจากนั้น พระนางจามเทวีจึงเสด็จไปยังระมิงค์นครในฐานะผู้ชนะศึก เพื่อทรงช่วยเหลือบำรุงขวัญประชาชนให้กลับเป็นปกติสุขอีกครั้ง จากนั้นจึงพระราชทานเอกราชให้แก่ชาวระมิงค์นครมิให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของ หริภุญไชยเป็นการแสดงพระกรุณา โดยจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎเมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พ.ศ. ๑๒๓๐

ในตำนานจามเทวีวงศ์มีขยายความเรื่อง เกี่ยวกับลัวะต่อไปอีกคือ ภายหลังการสงครามขุนวิลังคะ พระมหันตยศและพระอนันตยศ ก็ทรงได้พระธิดาขุนวิลังคะเป็นชายาด้วย ดังนั้นพระนางจามเทวีจังทรงมีพระสุณิสาลำดับแรกเป็นเจ้าหญิงชาวลัวะ

เรื่องเผชิญพวกลัวะนี้ ตำนานพื้นเมืองอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวไว้พิสดารออกไป คือ หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวีจนไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูนพระนางก็จะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะจึงดีใจถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพเพียงครั้งแรกก็มาตกที่นอกเมืองทาง ทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองไปเพียงไม่กี่วาเท่านั้น สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า เวลาต่อมา

พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่น พระทัยนัก ทรงเกรงว่าหากให้มีการพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายอีกครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะสวม ข้างหลวงมิลังคะนั้นพอได้รับของฝากจากพระนางก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกนั้นแล้วลองพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ ปรากฏว่าเสน้ากลับลอยไปตกห่างจากตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงได้พบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว เลยหมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว แต่ต่อมาชาวลัวะกับชาวลำพูนก็ยังได้มีสัมพันธ์ต่อกันบ้างในรุ่นหลังจากนั้น

สร้างพุทธปราการและกำเนิดเขลางค์นคร

ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า ในลำดับต่อมาพระนางจามเทวีทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนม์มายุ ๗ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญไชยแทนพระนาง และมีการมหรสพสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ต่อมาก็อภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางทรงเสวยราชย์ในกรุงหริภุญไชยได้ ๗ ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญไชยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรดำรงอยู่ด้วยความสุข ในเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย มีแต่ความสงบร่มเย็นในพระศาสนา

เมื่อถึงเวลานี้ พระนางจามเทวีก็เสด็จประทับอยู่ในพระราชสำนักแห่งพระนางด้วยความ สุขอย่างบริบูรณ์แล้ว เช้าวันหนึ่งพระนางตื่นบรรทมขึ้นมา เป็นเวลาที่อากาศแจ่มใสน่าสบายอย่างยิ่ง พระนางยังทรงประทับอยู่ ณ ที่ไสยาสน์ ระลึกถึงห้วงเวลาทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วบังเกิดความปิติในพระหฤทัยว่าสิ่งใด ที่พระนางปรารถนาไว้เวลานี้พระนางก็ถึงพร้อมด้วยสิ่งนั้นแล้วทั้งหมด ทรงมีพระดำริว่ากัลยาณกรรมอันพระนางได้ทำมาแล้วในกาลก่อน พระนางจึงได้มาสำเร็จในชาตินี้ กรรมอันเป็นกุศล ควรที่พระนางคิดทำไว้ในอนาคตก่อนที่จะชราภาธ ด้วยพระดำริเช่นนั้นเอง พระนางก็ทรงสรงน้ำ ฉลองพระองค์แล้วนำข้าราชบริพารออกสำรวจรอบพระนคร เห็นสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างพระอารามแห่งใหม่ขึ้น ๔ มุมเมืองนั้น ได้แก่

1. วัดอรัญญิกกรัมมการาม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ทรงสร้างวิหารและพระพุทธรูป แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์ มีพระสังฆเถระเป็นประธาน
2. วัดอาพัทธาราม ทางทิศเหนือของพระนคร มีวิหารหลังหนึ่ง สำหรับพระสงฆ์ผู้มาแต่ลังการาม

3. วัดมหาวนาราม ทางทิศตะวันตกของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูป และกุฏิสำหรับให้พระสงฆ์จำพรรษา
4. วัดมหารัดาราม ทางทิศใต้ของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูปอย่างงดงาม ให้พระสงฆ์จำพรรษาและเลี้ยงดูด้วยข้าวด้วยน้ำ

อาณา ประชาราษฏร์ต่างพากันอนุโมทนาและโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการสร้างวัดเพิ่ม เติม อีกเช่นกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ก็พากันหอบลูกจูงหลานเข้าวัด

ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพของพระนางจามเทวี ภายหลังจากที่ได้ทรงคืนราชสมบัติให้แก่พระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรส แล้วเมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๒๓๖ พระนางจามเทวีมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ได้ทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว โดยแม่ชีจามเทวีทรงปฏิบัติศาสนา ณ สำนักอารามจามเทวี จนกระทั่งในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พ.ศ. ๑๒๗๔ แม่ชีจามเทวีก็ได้สวรรคตโดยปราศจากโรคใดๆ และได้มีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๑๔๗๖ สิริพระชนมายุได้ ๙๘ พรรษา

หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย แล้ว ก็ได้นำพระอัฐิบรรจุไว้ ณ อารามจามเทวี โดยนครหริภุญชัย เขลางค์ และระมิงค์ ได้ร่วมกันไว้ทุกข์ต่ออีก ๑ปี

ไม่มีความคิดเห็น: